KTBST ทำกำไรต่อเนื่อง 3 ปี สรุปผลดำเนินงานปี 2561 วางโครงสร้างพื้นฐานรับใบอนุญาตเสริมพอร์ตรายได้ค่าธรรมเนียมบริการ ตั้งเป้ารายได้ปีหน้า 1,300-1,400 ล้านบาท พร้อมยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนมกราคม 2562
วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2561 ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,074.8 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30% จากปีก่อนหน้า และมีกำไรก่อนหักภาษี 76.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ คาดว่ากำไรก่อนหักภาษี ณ สิ้นปี 2561 จะอยู่ที่ราว 80 ล้านบาท
วินแสดงผลประกอบการที่โตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งบริษัทมีการปรับโครงสร้างการทำงานและกลยุทธ์ใหม่ โดยเฉพาะปีนี้มีการขยายธุรกิจที่ครบวงจรมากขึ้น
โดยบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการวาณิชธนกิจ (Investment Banking) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 หลังจากถูกพักใบอนุญาตมากว่า 2 ปี ซึ่งหลังจากได้รับใบอนุญาตอีกครั้ง KTBST ได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อเปิดจำหน่ายหุ้นไอพีโอให้กับ บริษัท ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TIGER เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และได้เป็น FA ให้กับ บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ STI ที่เตรียมจำหน่ายหุ้นไอพีโอภายในปี 2562
บริษัทยังได้รับใบอนุญาตใหม่ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่
- ใบอนุญาตซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากธนาคารแห่งประเทศไทย
- ผู้ให้บริการออกแบบการลงทุน (Wealth Advice) จาก ก.ล.ต.
- ใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจจัดการกองทุนรวม ผ่าน บลจ.วี บริษัทในเครือที่จัดตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561
นอกจากนี้ยังมีการยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริทรัพย์ (REIT Management) ภายใต้บริษัทในเครือ บริษัท เคทีบีเอสที รีท แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติในเดือนธันวาคมนี้ โดยวินกล่าวเพิ่มเติมว่า จะเริ่มเปิดกองรีทแรกช่วงปลายไตรมาส 1/62 มุ่งเน้นเป็นกองรีทรูปแบบ Non-Sponsored REIT มูลค่าไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท
ปี’62 ตั้งเป้า 1,300-1,400 ล้าน มองยาว 5 ปีปรับพอร์ตรายได้สมดุล
วินกล่าวต่อว่า ปี 2562 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตด้านรายได้เป็น 1,300-1,400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 26% และคาดว่าจะควบคุมรายจ่ายได้ดีขึ้น สะท้อนเป็นผลกำไรก่อนหักภาษีที่ 150-160 ล้านบาท หรือเติบโตเกือบเท่าตัวจากปี 2561
ปัจจุบันบริษัทมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นประจำ 7,000 บัญชี แต่ในปีหน้าจะไม่เน้นขยายส่วนแบ่งตลาดส่วนนี้ การเติบโตจะเน้นการให้บริการที่ครบวงจร จึงตั้งเป้าขยายธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) เติบโตที่ 125,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากปี 2561 ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลตั้งเป้า AUM เติบโตแตะ 3,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30% ธุรกิจตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน ตั้งเป้า AUA ที่ระดับ 10,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43% ขณะที่ บลจ. วี ตั้งเป้าเติบโต 5,000 ล้านบาท และ เคทีบีเอสที รีทส์ แมเนจเม้นท์ เติบโต 3,000 ล้านบาท รวมถึงตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งการตลาดของการซื้อขาย TFEX ให้ติดอันดับ 1 ใน 5 เช่นเดิม
สำหรับพอร์ตรายได้ปี 2562 คาดว่าจะมาจากค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ราว 40-50% ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริการอื่นๆ 30-40% และดอกเบี้ยและเงินปันผลรวมถึงรายได้อื่นๆ ราว 10%
ทั้งนี้ วินคาดว่าในรอบ 5 ปีข้างหน้าบริษัทจะมีค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็น 50% ของพอร์ต ขณะที่ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะลดลงเป็น 40% ตามเป้าหมายการให้บริการที่ครบวงจร
วินกล่าวด้วยว่า ปี 2562 ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะมีการแข่งขันสูงยิ่งขึ้น เนื่องจากปริมาณการซื้อขายของตลาดลูกค้ารายย่อยที่ลดลงซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปีนี้ น่าจะยังเป็นภาพต่อเนื่องจนถึงปีหน้า
“น่าจะมีการแข่งขันดึงตัวโบรกเกอร์กันดุเดือดมากขึ้น ทั้งตลาดหุ้นเองน่าจะทรงตัวต่อเนื่องเหมือนช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่ปัจจุบันรายได้กลุ่มนี้เป็นแหล่งรายได้ในบริษัทเราต่ำกว่า 50% แล้ว จึงน่าจะมีผลกระทบน้อยลง และบริษัทจะเน้นเจาะกลุ่มนักลงทุนสถาบันให้มากขึ้น เพิ่มสัดส่วนเป็น 30-40% รวมถึงกลุ่มลูกค้า HWNI (High Net Worth Individual) ที่ยังไม่เคยลงทุนในหุ้นมาก่อนด้วย” วินกล่าว
- อ่านเพิ่มเติม ‘ตลาดเงิน-ตลาดทุน’ ปี 2562 ส่งสัญญาณลบ สภาพคล่องฝืด ‘ตลาดหุ้น’ ชะลอตัว บทวิเคราะห์โดย KTBST
แต่งตัวเข้า SET ระดมทุน 200 ล้านบาท
วินเปิดเผยว่า บริษัทมีแผนธุรกิจที่สำคัญในปีหน้าคือ การนำ KTBST เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าน่าจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ได้ในช่วงต้นปี 2562 โดยมี APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และตั้งเป้าระดมทุน 200 ล้านบาท
วินคาดว่าหลังการเปิดขายหุ้นไอพีโอ บริษัท KTB Investment and Securities บริษัทแม่จากเกาหลีจะลดสัดส่วนหุ้นลงจาก 75% เหลือ 55% ขณะที่ตนเองจะลดสัดส่วนหุ้นจาก 25% เหลือ 13%
“วิสัยทัศน์ของบริษัทแม่จากเกาหลีคือ ต้องการจะมีบริษัทการเงินที่ยิ่งใหญ่ในเอเชีย ทำให้ KTBST เป็นเหมือนฐานเริ่มต้นของเขา เขาไม่ได้ต้องการเป็นโบรกเกอร์อย่างเดียว แต่ต้องการจะเป็นสถาบันการเงินที่ทำได้มากกว่านั้น” วินกล่าวทิ้งท้าย