ศูนย์วิจัย Krungthai คาดการณ์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 ลดลงจาก 1.23% ในปีก่อนมาอยู่ที่ 1% แม้ที่ผ่านมาเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบแบบ YOY จะติดลบต่อเเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ก็ยังไม่เข้าขั้นภาวะเงินฝืด
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เผยถึงข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 2566 ติดลบ -0.83% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี (YOY) มีการหดตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ -0.3% โดยเป็นผลจากหมวดพลังงานที่หดตัว -5.12% YOY ติดลบมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ -4.52% YOY ตามนโยบายการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ ทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง
ขณะที่เงินเฟ้อหมวดอาหารสดหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ -2.3% YOY เปรียบเทียบเดือนก่อนที่ -0.76% YOY ตามราคาเนื้อสุกรที่ลดลงเนื่องจากปริมาณเนื้อสุกรในระบบเพิ่มขึ้น และราคาผักสดลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.58% YOY ชะลอตัวต่อเนื่องจากสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เครื่องประกอบอาหาร ขณะที่ราคาสินค้าที่ขยายตัวชะลอลง ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารบริโภคในบ้าน เครื่องนุ่มห่มและรองเท้า เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ 1.23% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.27%
ทั้งนี้ ทาง Krungthai คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด โดยเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
1. มาตรการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานเป็นปัจจัยหลักทำให้อัตราเงินเฟ้อติดลบ
2. ราคาสินค้าบางรายการขยายตัวชะลอลงเนื่องจากผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อกสินค้า และอุปทานในตลาดเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลรายงานของสภาพัฒน์ที่สินค้าคงคลังปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้อุปทานของสินค้าบางชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นในตลาดทำให้ราคาปรับลดลง เช่น ปริมาณเนื้อสุกรในระบบที่มีมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับลดลง เป็นต้น
นอกจากนี้ การประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2567 คาดการณ์ว่าจะชะลอลงจากปี 2566 ที่ 1.23% มาอยู่ที่ 1.0% โดยเป็นผลจากราคาหมวดพลังงานที่มีแนวโน้มต่ำกว่าปี 2566 พร้อมปรับลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีกทั้งดีเซลและเบนซิน ภายใต้สมมติฐานที่ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งลดลงจากราคาในปี 2566 เฉลี่ย 32.1 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์วิจัยฯ ยังแนะให้จับตาความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในทะเลแดงที่อาจจะส่งผลให้ต้นทุนค่าระวางเรือขยับขึ้น รวมทั้งแรงกดดันที่มีต่อราคาน้ำมันดิบให้ปรับสูงขึ้นกว่าที่คาดได้
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นักเศรษฐศาสตร์ชี้ "อสังหาฯ ล้นตลาดในจีน" ใช้เวลาแก้ไขขั้นต่ำนานถึง 10 ปี
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine