โลกชะลอเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย ปี 67 กสิกรยังคงเป้า GDP ปีนี้อยู่ที่ 2.6% - Forbes Thailand

โลกชะลอเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย ปี 67 กสิกรยังคงเป้า GDP ปีนี้อยู่ที่ 2.6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และต้องติดตามการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะกำหนดทิศทางสงครามการค้าระลอกใหม่ ซึ่งไทยอาจไม่ได้อานิสงส์มากนัก ส่วนปี 2567 นี้ยังคงประมาณการ GDP ปี 2567 ที่ 2.6% แต่คาดจะเจอความเสี่ยงด้านลบจากเหตุการณ์น้ำท่วม โรงงานปิดในอุตสาหกรรมที่แข่งขันไม่ได้ ค่าแรงขึ้น รวมถึงบาทที่ผันผวนซึ่งกระทบการส่งออกและท่องเที่ยว


    นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลงซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ลดดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมที่ผ่านมาซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ และได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีก 2% ภายในปี 2569 ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลง อาทิ เยอรมันที่ GDP บางช่วงติดลบส่วนจีนปีนี้มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5% ในปี 2567 จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด และรัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน โดยต้องจับตาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ รวมถึงติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าพรรคใดจะชนะเชื่อว่าสหรัฐจะสานต่อนโยบายการกีดกันทางการค้าต่อจีน (หรือเกิด Trade war 2.0)

    ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกยังสร้างความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจไทย หากเกิด Trade War 2.0 ที่สหรัฐฯ อาจมีการกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 60% และการนำเข้าจากที่อื่นๆ เป็น 10-20% น่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ยังไม่โดนเก็บภาษีจาก Trade War 1.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานสูง (Labor-Intensive) และไทยอาจได้อานิสงส์ไม่มากนัก แต่ยังเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย อาจเสี่ยงเผชิญการผลิตที่เกินความต้องการในประเทศ (ไม่โตเท่าที่คาด) และยากที่จะหวังพึ่งการส่งออก


    ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.6% เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะขยายตัวสูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก เพราะมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกและการลงทุน และการท่องเที่ยวช่วงฤดูกาล (High Season) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

    ในด้านปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมี 4 เรื่องหลัก ได้แก่

    1. น้ำท่วม โดยผลกระทบจะมากขึ้นอีกถ้าสถานการณ์เกิดรุนแรงในภาคกลางและภาคใต้ 

    2. บาทผันผวนสูง จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวในช่วง High Season

    3. การแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศที่ท้าทายขึ้นสะท้อนจากการปิดโรงงานเกิดขึ้นต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น ในกลุ่มที่ไม่สามารถแข่งขันได้

    4. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งระยะเวลาที่กระชั้นมีส่งผลต่อการเตรียมสภาพคล่อง

    นอกจากเจอความเสี่ยงหลักเหล่านี้แล้ว ไทยยังเผชิญกับปัญหาหลักคือ หนี้สินภาคครัวเรือน ที่คาดว่าจะเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ใกล้ระดับ 90% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ทำให้โอกาสการเติบโตสินเชื่อใหม่อยู่ในกรอบที่จำกัดกว่าเดิมมาก โดยสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยปีนี้คงโตไม่เกิน 1.5% ท่ามกลางความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ที่ลดลง


    อีกทั้ง ผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 พบว่า 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถเคยประสบปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ซึ่งปัญหาจะเชื่อมโยงกับการมีรายได้ในระดับไม่สูง มีเงินออมน้อย จึงทำให้อ่อนไหวมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ และยังพบว่ามีผู้ที่พึ่งพาหนี้นอกระบบ 8.2% ซึ่งต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ วางแผนทางการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ในระบบ นอกเหนือจากการแก้ที่ยั่งยืนด้วยการเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 10 ปีอสังหาไทย หนักขนาดไหน? บ้านแพงขึ้น รายได้โตไม่ทันราคาบ้าน หนี้ครัวเรือนสูง กู้บ้านไม่ผ่านพุ่ง 80%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine