ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์รายได้ตลาดอินเทอร์เน็ตผู้บริโภค (B2C) ในปี 2568 คาดว่าจะเติบโต 1.6% มาจากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ 2.7% ที่โตช้าลง และการหดตัวของอินเทอร์เน็ตประจำที่ 2.0% ในขณะที่ ตลาดอินเทอร์เน็ตองค์กร (B2B) คาดว่าจะเติบโตสูงที่ 5.1% ส่วนธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร รายได้จะเติบโตราว 5.0% จากการที่มีดาวเทียมเปิดใช้งานเพิ่มขึ้นและการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ฟากธุรกิจผู้บริโภคต้องเร่งปรับตัวเพิ่มรายได้ผ่านการเสนอแพ็กเกจพ่วงและบริการเสริม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย ภาพรวมธุรกิจอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน ปี 2568 จะเติบโต 2.2% ถือว่าชะลอตัวจากปีก่อน เพราะผลกระทบจากตลาดอินเทอร์เน็ตผู้บริโภคที่มีส่วนแบ่งรายได้ 83% ขณะที่ตลาดองค์กร ที่มีส่วนแบ่ง 17%
ทั้งนี้ ปี 2568 ประเมินว่า ตลาดผู้บริโภคคาดว่าจะเติบโต 1.6% ในปี 2568 ซึ่งมาจาก 2 ส่วน ได้แก่
- อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ (มีสัดส่วนรายได้ราว 78%) ประเมินว่า ในปี 2568 รายได้จะเติบโต 2.7% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวราว 4.4% โดยส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตที่ช้าลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลต่อรายได้อินเทอร์เน็ตในตลาดดังกล่าว นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวไทยก็มีแนวโน้มทรงตัว เพราะกว่าร้อยละ 96 ของประชากรไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก็เริ่มมีการปรับตัว และมุ่งเน้นในการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหมายเลข/เดือนที่มีแนวโน้มขยายตัว 2.4% ในปี 2568 จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการอินเทอร์เน็ตผ่านการให้บริการเสริมต่างๆ เช่น บริการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ ประกอบกับผู้บริโภคก็มีแนวโน้มใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ส่งผลให้ยังคงช่วยรักษาการเติบโตของตลาดไว้ได้
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/z8osbLuHR8bD7hgKCvUv.jpg)
- อินเทอร์เน็ตประจำที่ (มีสัดส่วนรายได้ราว 22%) คาดว่ารายได้จะหดตัว 2.0% เนื่องจากสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในครัวเรือนไทยลดลงต่อเนื่องหลังจากแตะจุดสูงสุดในช่วงโควิด-19 ที่ 44.8% ของจำนวนครัวเรือนไทย โดยคาดว่าในปีนี้จะลดลงสู่ระดับ 31.4% จากการกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้าน และการเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีผู้พักอาศัยคนเดียว ซึ่งลดความต้องการอินเทอร์เน็ตประจำที่ ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหมายเลข/เดือนของปี 2568 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 มีการลดลงถึง 19.0%
ขณะที่รายได้ตลาดอินเทอร์เน็ตองค์กรคาดว่าจะเติบโต 5.1% ในปี 2568 โดยช่วงที่ผ่านมาระหว่างปี 2563-2567 รายได้จากตลาดอินเทอร์เน็ตองค์กรในไทยเติบโตเฉลี่ย 16.6% ต่อปี จากการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลทำให้ธุรกิจมีการใช้งานและลงทุนในเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ และการประยุกต์ใช้ AI ในภาคธุรกิจ เป็นต้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 2,336% ทำให้ตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยยังคงมีทิศทางเติบโต โดยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 14.3% ซึ่งจะมีส่วนหนุนอุปสงค์อินเทอร์เน็ตภาคองค์กรในปีนี้
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดองค์กรอาจไม่มากพอที่จะขับเคลื่อนภาพรวมของธุรกิจอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดินเนื่องจากสัดส่วนรายได้ของยังคงน้อยกว่าตลาดผู้บริโภค
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/6KTs74Wmrv5NkBa2HZPm.jpg)
ปี 2568 รายได้จากธุรกิจดาวเทียมสื่อสารคาดว่าจะเติบโต 5.0% แต่ยังเผชิญความท้าทายในการฟื้นฟูรายได้ให้กลับมาใกล้เคียงอดีต
ทั้งนี้ ธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร หลังจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทีวีดิจิทัล และการพัฒนาอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดินที่มีต้นทุนต่ำ อีกทั้งเข้าถึงได้ง่ายกว่า ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจดาวเทียมลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 มีปัจจัยบวกที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ ได้แก่
1. การปรับตัวของผู้ประกอบการในไทยที่ขยายเข้าสู่ธุรกิจบริการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์และประมวลผลจากภาพถ่ายดาวเทียม บริการประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่เกษตร/ป่าไม้ และดาวเทียม LEO สำหรับการให้บริการด้านความปลอดภัยทางทะเล เป็นต้น
2. การขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยบริษัทในไทยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอินเดียให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการให้บริการในประเทศที่ยังมีช่องว่างในการเติบโตของตลาด
3. ในปี 2568 จะมีดาวเทียมพร้อมเปิดให้บริการใหม่ ซึ่งรวมถึงการเปิดให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) สำหรับอินเทอร์เน็ตผ่านการใช้ช่องสัญญาณจากดาวเทียมต่างชาติ โดย LEO มีข้อได้เปรียบสำคัญในด้านความเร็วที่ใกล้เคียงกับอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน
ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าธุรกิจดาวเทียมจะมีการท้าทายในการฟื้นฟูรายได้ให้กลับมาใกล้เคียงอดีต แต่คาดว่าในระยะยาวจะเห็นการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากต้นทุนการยิงดาวเทียมลดลงอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีจรวดใช้ซ้ำได้ของ SpaceX ที่ช่วยลดต้นทุนจากระดับพันล้านบาทเหลือหลักร้อยล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นการลงทุนดาวเทียมดวงใหม่และส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียม
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/zD5XjWKFcVK7zKZhHMCZ.jpg)
ขณะที่ความเสี่ยงของธุรกิจอินเทอร์เน็ตในปี 2568
- อินเทอร์เน็ตประจำที่อาจถูกแทนที่ด้วยอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ทำให้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดินเผชิญกับแนวโน้มรายได้ที่ลดลง เนื่องจากลูกค้าบางส่วนอาจเลือกลดค่าใช้จ่ายโดยยกเลิกการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำที่และหันไปใช้อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่แทน
- ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) อาจกลายเป็นตัวท้าทายหลักต่ออินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน เนื่องจากมีคุณภาพการสื่อสารที่ใกล้เคียงกัน และหากค่าบริการของ LEO ลดลงจนเทียบเท่าหรือต่ำกว่าอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน จะทำให้ LEO กลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่สามารถแทนที่อินเทอร์เน็ตภาคพื้นดินได้
- การให้บริการอินเทอร์เน็ต และดาวเทียมอาศัยการประมูลคลื่นความถี่และใบอนุญาตใช้วงโคจรดาวเทียมที่จัดโดย กสทช. ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ และวงโคจรดาวเทียมนั้นกำหนดขีดความสามารถในการให้บริการของผู้ประกอบการ อีกทั้งหากประมูลไม่สำเร็จก็จะกระทบต่อการให้บริการได้ นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจดาวเทียมยังต้องมีการรักษาสิทธิเข้าใช้วงโคจรกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) อีกด้วย
- รายได้จากธุรกิจดาวเทียมสื่อสารจากต่างประเทศอาจมีความผันผวนสูงเนื่องจากความไม่แน่นอนของค่าเงิน ซึ่งส่งผลต่อรายได้เมื่อแปลงกลับเป็นสกุลเงินไทย
ภาพ: กสิกรไทย, freepik
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : YLG เปิด 4 สาเหตุหนุนราคาทองขาขึ้นต่อเนื่อง ลุ้นแตะ 50,000 บาท แต่ระวังแรงเทขายทำกำไร
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine