ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKPB) จับมือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดให้บริการถอนเงินแบบต้องไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM/CDM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 10 ครั้งต่อเดือน เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPB กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าภายใต้แนวคิด Customer Centric ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางเสมอมา
ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่นิยมทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ธนาคารจึงได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าสามารถใช้บริการถอนเงินสดโดยไม่ต้องใช้บัตรได้ที่ตู้ ATM/CDM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ผ่านแอปพลิเคชัน KKP MOBILE หลังจากที่ธนาคารได้เปิดให้บริการถอนเงินในรูปแบบดังกล่าวผ่านตู้ ATM/CDM ของธนาคารไทยพาณิชย์ไปแล้วก่อนหน้านี้
“บริการนี้คืออีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาแอป KKP MOBILE เนื่องจากปัจจุบันบริการทางการเงินแบบดิจิทัลได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้บริการ Mobile Banking ที่เพิ่มความสะดวกสบายและรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้น เพื่อตอบรับยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทางธนาคารธนาคารเกียรตินาคินภัทรได้มีการพัฒนาแอป KKP MOBILE ให้ตอบโจทย์ครบในทุกความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัล และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ซึ่งหากลูกค้ามีความจำเป็นต้องใช้เงินสดสามารถนำแอป KKP MOBILE ไปใช้บริการถอนเงินแบบไม่ต้องใช้บัตรได้ที่ตู้ ATM/CDM ของ ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม 10 ครั้งต่อเดือน ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
ด้าน ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ร่วมมือกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPB เปิดให้บริการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร (ATM Cardless Withdrawal) ให้กับลูกค้า KKPB ผ่านแอปพลิเคชัน KKP MOBILE ที่ตู้ ATM/CDM ของ ธ.ก.ส. กว่า 2,300 เครื่องทั่วประเทศ โดย ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนประชาชนให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคดิจิทัล มุ่งยกระดับบริการทางการเงินอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บริการดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า KKPB ให้เข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อ่านเพิ่มเติม:
- AACSB เผยแนวทางสร้างหลักสูตร “คณะบริหารธุรกิจ” ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่
- “เคทีซี” ปรับใหญ่ปี 66 โตทุกกลุ่ม ตั้งเป้ากำไรหมื่นล้านภายใน 5 ปี
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine