สรุปจากงาน KKP YEAR AHEAD 2024 เมื่อไทยเป็น “นักกีฬาสูงวัย” เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ เปลี่ยนอย่างไรให้ไปไกลกว่าเดิม - Forbes Thailand

สรุปจากงาน KKP YEAR AHEAD 2024 เมื่อไทยเป็น “นักกีฬาสูงวัย” เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ เปลี่ยนอย่างไรให้ไปไกลกว่าเดิม

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จัดงานสัมมนาแฟล็กชิปประจำปี KKP YEAR AHEAD 2024 เพื่อฉายภาพทิศทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การลงทุน ตลอดจนวิเคราะห์อุตสาหกรรมสำคัญให้แก่ลูกค้าของกลุ่มธุรกิจฯ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของ KKP, วิทยากรรับเชิญจากหลากหลายสาขา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญกองทุนระดับโลก มาแลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปีนี้


    โดยช่วงหนึ่งของงาน KKP Year Ahead 2024 มีการเสวนาหัวข้อพิเศษ “Reviving Thailand: เศรษฐกิจไทย..เปลี่ยนอย่างไรให้ไปไกลกว่าเดิม” โดยมี ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก, สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดังในนามปากกา “นิ้วกลม” และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร ร่วมเสวนา


ศก.ไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ หรือศักยภาพกำลังลดลง

    ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เริ่มต้นฉายภาพเศรษฐกิจไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาว่า ทุกครั้งเศรษฐกิจหลังจากวิกฤตยังไม่เคยกลับไปเติบโตได้เท่าเดิม จนไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจกำลังโตต่ำกว่าศักยภาพหรือศักยภาพลดลงมาเรื่อยๆ จากที่ประเทศไทยเคยได้ชื่อเป็น ‘miracle’ ของเอเชียในช่วงทศวรรษ 1990 ที่เศรษฐกิจเติบโตมากกว่า 7% แต่เมื่อเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง การเติบโตของเศรษฐกิจก็ลดลงเหลือ 5% เครื่องจักรเปลี่ยนจากการลงทุนมาเป็นการส่งออก

    เมื่อถึงวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 เศรษฐกิจเติบโตลดลงเหลือ 3% พร้อมกับที่เครื่องจักรถูกเปลี่ยนจากการส่งออกมาเป็นการท่องเที่ยว จนท้ายที่สุดคือวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกคนหวังว่าเมื่อโรคระบาดผ่านพ้นไป เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ กระนั้น เศรษฐกิจหลังจากโควิด-19 กลับเติบโตลดลงไปอีกเหลือไม่ถึง 3% โดยมีการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว


    “ความสามารถในการแข่งขันเราลดลง เมื่อจีนตีตลาด การเกินดุลการค้าของเราไม่เหมือนเดิม คือเราต้องนำเข้าสินค้าจากจีนเยอะขึ้น ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เหล็ก ล่าสุดคืออีวี ทั้งที่เราเคยเป็นประเทศที่ส่งออกรถยนต์ไปโลก ตอนนี้เราต้องนำเข้า สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือความสามารถในการผลิตของเรากำลังมีปัญหาหรือไม่

    “อีกปัญหาที่สำคัญคือประชากรเราลดลง ทั้งยังแก่ก่อนรวย ในด้านการศึกษาคะแนน PISA ไทยตกต่ำตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยรวมคือเศรษฐกิจไทยโตช้าลง โอกาสทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่จะช่วยเคลื่อนย้ายคนให้ไปเป็นชนชั้นอื่นนั้นช้าลง ทั้งยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ถ้าเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างนี้ เราจะเหลื่อมล้ำขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณบ่งชี้ไปสู่การปฏิรูปสิ่งที่เป็นข้อจำกัดเชิงโครงสร้างเพื่อการกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง”


ประเทศไทยเหมือน “นักกีฬาสูงวัย”

    ดร.สันติธาร เสถียรไทย มองว่าประเทศไทยตอนนี้เหมือน “นักกีฬาสูงอายุ” ทั้งโดยตัวเลขคือมีแรงงานอายุเฉลี่ย 41 ปีเทียบกับอาเซียนที่ไม่เกิน 30 ปี และโดยอาการที่วิ่งได้ช้าลง

    “ปัญหาคือว่าเราไม่ได้ต้องกลัวว่าเราต้องล้มหักเหมือนเวเนซุเอลา ศรีลังกา หรืออาร์เจนตินา ไม่ต้องกลัวแบงก์ล้ม ปัญหาแบบต้มยำกุ้งไม่น่าจะเกิดอีก คือปัญหาเราไม่น่าจะล้มหนัก แต่ตามไม่ทัน ทำอย่างไรให้เราไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดนคนอื่นแซงไปเรื่อยๆ”

    ดร.สันติธาร กล่าวว่า ดังนั้น การแก้ปัญหานี้ไม่มีทางลัด การใช้ยากระตุ้นสุดท้ายจะเป็นผลร้าย มีแต่ต้องปรับตัวใหม่ทั้งหมด ออกกำลังกายมากขึ้น ดูแลอาหารการกิน และเล่นด้วยความฉลาดมากกว่าแข่งกับนักกีฬาหนุ่มตรงๆ


    โดยทางออกมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ก-ข-ค เริ่มจาก ข. ไข่ หรือขนาดของตลาดไทยที่เล็กกว่าคู่แข่งหลายประเทศ ความน่าสนใจจึงน้อยกว่า ต้องแก้ไขด้วยการเปิดกว้างมากขึ้น และเป็นประเทศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งโยงไปสู่เรื่องที่ 2 คือ ก. ไก่ หรือกฎกติกาว่าต้องส่งเสริมให้ทำธุรกิจง่ายขึ้น แก้ไขกฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อนโดยไม่จำเป็น และเรื่องสุดท้ายคือ ค. โครงสร้างพื้นฐานและคน ที่ต้องมีการลงทุนในเรื่องดิจิทัล ความยั่งยืน สังคมสูงวัย ต้องมีการ Upskill/Reskill ให้แรงงานสามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่

    “ถ้าเราสู้เขาไม่ได้ ก็ต้องทำให้เรานิสัยดีขึ้น กฎกติกาการทำธุรกิจในไทยต้องง่ายขึ้น ถ้าทำกิโยตินในไทยสำเร็จ ก็จะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้ปีละแสนล้านโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย กฎกติกาต้องให้คนได้มาช่วยให้คิดกันได้มากขึ้น หรือเป็น open government

    “นอกจากนี้ยังต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ผลักดันกรีนอีโคโนมี เพื่อดึงดูดการลงทุน มีโครงสร้างพื้นฐานที่รับกับประชากรสูงวัย และสุดท้ายคือเรื่องของคน ยุคเปลี่ยนแปลงเร็ว คนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังเยอะมาก AI กำลังมา แต่แรงงานขาดแคลน เรามีคนที่ใช้ได้ไม่เต็มที่ แต่ถ้ารีสกิล/อัพสกิล จะเปลี่ยนอะไรได้เยอะ เป็นฐานที่จะทำให้เรามุ่งไปข้างหน้าได้”

    ดร.สันติธาร ปิดท้ายว่าในสถานการณ์โควิด เมืองไทยแก้วิกฤตได้อย่างดีมาก ผ่านการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (common vision) มีภาพความสำเร็จที่ชัดเจน และมีการประเมินผลที่สอดรับ แต่ปัญหาคือถ้าไม่มีวิกฤต เมืองไทยมักไม่สามารถผนึกกำลังทำสิ่งเหล่านี้ได้

    “โจทย์จึงเป็นการทำอย่างไรให้ประเทศสามารถมีวิสัยทัศน์ระยะยาว ที่ไม่เพียงแค่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้า แต่ยังปูทางสำหรับอนาคต โดยเฉพาะในเวลานี้ ที่มีเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกสำหรับทุกคนอย่างเช่น AI ไทยควรถือเป็นโอกาสสำหรับปิดช่องว่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับเกือบทุกประเทศเหมือนๆ กัน การตกคลื่นลูกที่แล้วมา ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถเป็นผู้นำในคลื่นลูกต่อไปได้”


สร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมพัฒนาประเทศ

    สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เล่าว่าคนรุ่นใหม่ๆ จำนวนมากตอนนี้ยังมีความหวังกับประเทศไทยและอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่คำถามคือเราสร้างพื้นที่ให้คนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน เราจึงควรต้องพัฒนาระบบการเมืองของประเทศให้เอื้อต่อการที่กลุ่มต่างๆ จะได้เสนอแนวคิดและทดลองแก้ไขปัญหา

    โดยสราวุธยกตัวอย่าง 2 ประเทศที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนถึงการเปิดพื้นที่ให้คนเข้าถึงโอกาสต่างๆ ประเทศแรกคือนามิเบียที่แบ่งกันชัดเจนระหว่างคนรวยกับคนจน บ้านคนรวยจะมีกำแพงสูงเพราะระแวงขโมย ขณะเดียวกันก็จะมีเขตที่เป็นชุมชนของคนจนโดยเฉพาะ เป็นการออกแบบเมืองที่แบ่งแยกกันและผู้คนไม่ได้มีส่วนร่วม


    ส่วนประเทศที่ 2 คือเดนมาร์กที่จะตรงข้ามกับนามิเบียคือการออกแบบเมืองจะมีการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก คนชรา คนป่วย เป็นการเฉลี่ยความต้องการคนในสังคมร่วมกันตามปรัชญาพื้นฐานของคนเดนมาร์กที่เรียกว่า “HYGGE” หรือ “ฮุกกะ” คือบรรยากาศที่อบอุ่นใจกับผู้คนรอบข้าง ซึ่งในความหมายกว้าง ไม่ได้หมายถึงแค่พื้นที่ส่วนตัวอย่างเช่นบ้าน แต่รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะและอาจจะรวมถึงพื้นที่อื่นๆ อย่างการเมือง เศรษฐกิจและสังคมด้วย

    ดังนั้นแล้วสำหรับประเทศไทยต้องเลือกว่าจะเดินไปทางไหน โดยเชื่อว่าการเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันจึงจะเป็นการดึงศักยภาพของประเทศออกมาได้สูงสุด พร้อมสนองรับต่อความท้าทายในมิติต่างๆ ได้



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เศรษฐกิจไทยปี 67 ไหวแค่ไหน? เมื่อคนไทยเป็นหนี้นาน-พึ่งงานนอกระบบ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine