KKP เตือนไทยเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกนโยบายทรัมป์ อาจสะเทือนจนขาดดุลการค้ากับจีน - Forbes Thailand

KKP เตือนไทยเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกนโยบายทรัมป์ อาจสะเทือนจนขาดดุลการค้ากับจีน

ในพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีในการออกคำสั่งหลายอย่างที่ครอบคลุมประเด็นเรื่องการเนรเทศคนต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย การปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การเปิดพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการสำรวจน้ำมันและก๊าซ การลดกฎระเบียบ และการหยุดการเผยแพร่กฎระเบียบใหม่ๆ โดยหน่วยงานรัฐ และการระงับการจ้างพนักงานของรัฐบาลกลาง

    

    หนึ่งในคำสั่งที่ประกาศออกมาและเกี่ยวข้องกับไทยมากที่สุดคือ การออกบันทึกการค้า (Trade memorandum) ซึ่งในเบื้องต้นสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางศึกษาและประเมินสาเหตุการขาดดุลการค้า การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และนโยบายค่าเงินของประเทศอื่นๆ เพื่อพิจารณานโยบายตอบโต้ โดยเฉพาะกับจีน แคนาดา และเม็กซิโก

    ประเด็นที่อาจจะเข้าข่าย ในกรณีของประเทศไทยคือเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากทั้งดุลการค้าที่มีการเกินดุลกับสหรัฐอเมริกาในระดับสูงรวมไปถึงมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ดังนั้น มีโอกาสค่อนข้างสูงที่ไทยจะเป็นประเทศที่ถูกติดตามโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในสหรัฐฯ



    ในระยะข้างหน้า นโยบายที่ทุกคนจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้น การขึ้นภาษีนำเข้าซึ่งมีโอกาสจะสร้างความวุ่นวายต่อเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายของประเทศอื่นๆ ในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการตีแผ่ความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทยในแวดวงสาธารณะไปบ้างบางส่วน หลังจากเคยเผชิญเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ 8 ปีที่แล้วแบบไม่ทันตั้งตัว

    แต่ในครั้งนี้ KKP Research มองว่านโยบายการค้าของทรัมป์อาจไม่ใช่แค่สงครามการค้าเหมือนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ต้องยอมรับว่าไม่เหมือนทศวรรษที่แล้ว และบางทีการเตรียมรับมือแบบเดิมอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป นอกจากนี้ ผลกระทบที่คาดต่อเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอุตสาหกรรมทีส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่สหรัฐฯ อาจบีบให้ไทยเปิดตลาดให้แก่สินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นซึ่งอาจเพิ่มการแข่งขันและมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆ อีกด้วย


“สงครามการค้า” เป็นเครื่องมือต่อรอง

    KKP Research มองว่าจุดประสงค์หลักในการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ในท้ายที่สุดอาจไม่ใช่เพื่อสร้างสงครามการค้า แต่เป็นเครื่องมือที่สหรัฐฯ สามารถใช้ในการเจรจาและสร้างการค้าที่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐฯ มากขึ้น ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก

    ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา กระแสโลกภิวัฒน์ได้สร้างต้นทุนให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มหาศาล กล่าวคือการย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ ไปยังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีน รวมทั้งสร้างความไม่สมดุลในดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่กลุ่มประเทศหลักอื่นๆ กลับเกินดุล



    ในมุมมองของประธานาธิบดีทรัมป์ เครื่องมือสำคัญที่สหรัฐฯ จะใช้เจรจาการค้าที่เป็นธรรมคือการใช้ภาษีนำเข้า ในการต่อรองกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงประเด็นผู้อพยพ ยาเสพติด ค่าใช้จ่ายทางการทหาร การเปิดตลาดให้สหรัฐฯ และประเด็นการค้าและธุรกิจอื่นๆ

    KKP Research มองว่า กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สหรัฐฯ จะหันมาเพ่งเล็งมากขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ มี 5 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

    1. บริษัทสัญชาติอเมริกาที่ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ และส่งสินค้ากลับไปขายผู้บริโภคในสหรัฐฯ

    2. สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยตรง และส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ผลิตท้องถิ่น

    3. ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ขนาดสูง ไม่ว่าจะเป็น เม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม (และอาจจะรวมถึงไทยด้วย)

    4. สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่สาม เพื่อพยายามหลบหลีกภาษีนำเข้า

    5. ประเทศที่มีมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีหรืออื่นๆ

    แม้ว่าเครื่องมืออย่างภาษีนำเข้าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้าเรื้อรังได้ทั้งหมด แต่ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าจะใช้การขึ้นภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดดันประเทศหรือบริษัทต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น


ไทยจะตกเป็น “เป้า” ของสหรัฐฯ หรือไม่

    ในกรณีของไทย แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศเล็กในสายตาของสหรัฐฯ และดูผิวเผินไม่ใช่เป้าที่จะถูกขึ้นภาษีแต่ในมุมมอง KKP research มองว่ามีหลายประเด็นที่อาจทำให้ไทยเสี่ยงเข้าข่ายเป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายรองของสหรัฐฯ ได้แก่

    1. การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ของอาเซียน - ไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีขนาดเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุดแต่หากสหรัฐฯ มองไทยและประเทศอื่นในอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศเดียวกันทั้งหมดจะพบว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น

    ประเทศในกลุ่มอาเซียนจึงมีความเสี่ยงที่จะเจอกับมาตรการกีดกันการส่งออกจากสหรัฐฯ พร้อมกันทั้งหมดได้ โดยสินค้าของไทยที่มีการเกินดุลในระดับสูง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ ยางรถยนต์ เป็นต้น

    2. สินค้าจีนที่ส่งผ่านไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ - สินค้ากลุ่มต่อมาที่อาจตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ คือสินค้าที่จีนใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปี 2018 ดุลการค้าของไทยที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ พร้อมกับการขาดดุลกับจีนที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ KKP Research ตั้งข้อสงสัยว่า กิจกรรมการค้าบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในไทยส่วนหนึ่งคือการหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ ของจีน แม้ว่าจะประเมินได้ยากว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่เข้าข่ายและกิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่ารวมเท่าไหร่

    หลังจากนี้ สหรัฐฯ อาจถึงขั้นกำหนดว่าประเทศที่เข้าข่ายเป็นทางผ่านจะต้องพิสูจน์มูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงให้เห็นว่ามูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากจีนและนั่นอาจทำให้กระบวนการทางการค้าในอนาคตมีความยุ่งยากและต้นทุนมากขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการไทย

    3. มาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ - ประเด็นที่ประธานาธิบดีทรัมป์หาเสียงไว้หลายครั้งคือ นโยบาย Reciprocal Trade Act กล่าวคือหากประเทศไหนขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีกลับในอัตราที่เท่ากันในสินค้าเหล่านั้น นี่คือหนึ่งในหลักการสำคัญของการค้าที่เป็นธรรมในมุมมองของประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมาคิดภาษีนำเข้าบนสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าที่สหรัฐคิดกับประเทศเหล่านั้น

    ในกรณีของประเทศไทย สินค้าหลักที่ไทยคิดภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าสหรัฐฯ เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยานพาหนะสำหรับการคมนาคม เป็นต้น โดย KKP Research มองว่าสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัว


ผลกระทบสุดท้ายขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการเจรจา

    การประเมินผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีความซับซ้อนสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์รวมไปถึงแนวทางผลลัพธ์ของการเจรจาหากเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม KKP Research มองว่าผลกระทบที่เป็นไปได้ต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม ดังนี้

    1. สินค้าที่ไทยผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญของไทยที่ช่วยให้มูลค่าการส่งออกของไทยเติบโตและสนับสนุนดุลการค้าของไทยในปี 2024 แต่หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าบนสินค้านำเข้าทั้งหมดรวมถึงสินค้าไทยด้วยอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหรัฐฯ อาทิเช่น ฮาร์ดดิสก์ ยางรถยนต์ เป็นต้น

    2. สินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้าจีนที่ส่งผ่านไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มหดตัวในระยะข้างเนื่องจากนโยบายสหรัฐฯ ที่จะเพ่งเล็งสินค้านี้เป็นพิเศษรวมไปถึงการที่บริษัทจีนอาจเริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากไทยจากความกังวลเรื่องภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และย้ายไปตั้งฐานการส่งออกที่ลาวและอินโดนีเซียมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าทีสูงขึ้น

    3. ไทยอาจถูกบังคับให้นำเข้าเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ไทยอาจต้องเลือกระหว่างลดภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันอื่นในกลุ่มสินค้าอื่นๆ (เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร) เพื่อเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ หรือสินค้าส่งออกไทยอาจเผชิญกับภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ความเสี่ยงนี้จะมีจำกัดในกรณีที่สหรัฐฯ ยังมองข้ามประเทศเล็ก แต่หากสหรัฐฯ เพ่งเล็งมาที่ไทย สินค้าเกษตรจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ และหนึ่งในวิธีที่สหรัฐฯ อาจยอมลดภาษีนำเข้ากับไทยคือไทยอาจต้องยอมเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะเนื้อหมูและเนื้อไก่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ยกขึ้นมาในการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ CPTPP




จีนคืออีกด้านของเหรียญที่มองข้ามไม่ได้

    นโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ไม่ได้เพียงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทยเท่านั้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจีนจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยด้วยเช่นกัน ยิ่งสหรัฐฯ กดดันจีนมากเท่าไหร่ผ่านการขึ้นภาษีนำเข้า จีนอาจยิ่งตอบโต้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและสนับสนุนให้ธุรกิจหาตลาดส่งออกอื่น โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ยิ่งจีนดำเนินการลดดอกเบี้ยและทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง ยิ่งทำให้การนำเข้าสินค้าจากจีนถูกลงไปอีก

    ทั้งหมดนี้อาจทำให้สถานการณ์สินค้าจีนทะลักในไทยไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นและยิ่งทำให้ภาคการผลิตจีนเข้ามาแทนที่ภาคการผลิตไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรกังวลถึงผลกระทบที่มาจากฝั่งของจีนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยเปิดเสรีการค้ากับจีนค่อนข้างมากในขณะที่ยังมีการกีดกันการค้าบางส่วนกับสหรัฐฯ



แนะไทยเตรียมกรอบเจรจาให้พร้อม

    ในสถานการณ์ปัจจุบันทุกคนคงคาดหวังให้ไทยไม่ตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ ในประเด็นทางการค้าซึ่งก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ความหวังไม่ใช่กลยุทธ์ สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือเตรียมแผนสำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุดโดยเฉพาะกลยุทธ์ในการเจรจากับสหรัฐฯ เช่น สหรัฐฯ น่าจะต้องการอะไรจากไทย มีสิ่งใดที่ไทยจะสามารถนำเสนอต่อสหรัฐฯ และผลกระทบในแต่ละทางเลือกเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างรอบด้าน

    บทเรียนสำคัญในทุกการเจรจาข้อตกลงการค้าคือทุกข้อตกลงจะมีผู้ได้และเสียประโยชน์อยู่ กรอบในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และจีนควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยไทยในหลายมิติทั้งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ การจ้างงาน และผลต่อผู้บริโภคซึ่งแต่ละกลุ่มอาจได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในวันนี้แตกต่างจากสงครามการค้าในปี 2018 อย่างมาก สถานะที่อ่อนแอลงทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพด้านต่างประเทศทำให้ในวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับมา สงครามการค้าจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าเดิม


อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่: KKP Research

ภาพ: KKP Research


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ซิตี้แบงก์’ มองจีดีพีไทยปี 68 โต 3.2% ด้วยแรงหนุนจากการจ้างงาน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine