KKP Research วิเคราะห์ทางออกไทยเมื่อ ยอดปิดโรงงานพุ่ง 1,700 แห่ง กระทบจ้างงาน 42,000 ตำแหน่ง - Forbes Thailand

KKP Research วิเคราะห์ทางออกไทยเมื่อ ยอดปิดโรงงานพุ่ง 1,700 แห่ง กระทบจ้างงาน 42,000 ตำแหน่ง

KKP Research เผยยอดปิดโรงงานไทยพุ่ง 1,700 แห่ง จ้างงานหด 42,000 ตำแหน่ง นับจากต้นปีก่อน ผลจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมชะลอ ย้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ไข ห่วง 3 ปัจจัยกระทบประเทศในระยะยาว ‘เทคโนโลยีเปลี่ยน - แข่งแรงจากสินค้าจีนบุกตลาด - มาตรการกีดกันการค้าที่เข้มข้นขึ้น’


โรงงานในไทยปิดตัวมากแค่ไหน?

    KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ สะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่หดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี ตั้งแต่เดือนธ.ค. 2022 - มี.ค. 2024 นับเป็นการโตติดลบติดต่อกันที่ยาวนาน แม้วัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2023 แล้วก็ตาม

    ทั้งนี้ สัญญาณความน่ากังวล ได้แก่ ยอดการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น นับจากต้นปี 2023 ถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังพบว่า หนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัวซึ่งสะท้อนปัญหาที่รุนแรง เพราะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ และอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยต่อการปิดโรงงาน

    KKP Research พบความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวของโรงงานสูงกับอุตสาหกรรมที่หนี้เสียปรับตัวสูงขึ้น โดยโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากกว่า มีแนวโน้มที่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียสูงกว่าด้วย โดยอุตสาหกรรมที่น่ากังวล เพราะการผลิตหดตัวและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร

    อีกปัจจัยที่น่ากังวลคือ โรงงานใหม่มีน้อยลง ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน


โรงงานปิดตัวผลจากปัจจัยชั่วคราวหรือปัญหาที่ต้องเร่งแก้?

    KKP Research มองว่าปัญหาการหดตัวของหลายหมวดการผลิตในสินค้าไทยไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยชั่วคราวด้านอุปสงค์หรือตามวัฏจักรเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เกิดจากเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ทำให้แม้ว่าในอดีตการผลิตของไทยและโลกจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมาโดยตลอด แต่ในช่วงทีผ่านมาจะสังเกตเห็นว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มมีทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคและการผลิตของโลก

    ดังนั้น ในระยะต่อไปแม้ภาวะการค้าโลกฟื้นตัว อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อไทยโดย KKP Research แบ่งหมวดสินค้าในภาคการผลิตไทยเป็น 3 กลุ่ม คือ

    - การผลิตที่ยังเคลื่อนไหวตามวัฏจักรปกติ เป็นกลุ่มสินค้าที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้หากอุปสงค์กลับมาเติบโตขึ้นซึ่งคิดเป็นประมาณ 47% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด

    - การผลิตที่ปรับตัวลดลงตามสินค้าคงคลังที่สูง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ในช่วงที่ผ่านมามีระดับสินค้าคงคลังที่สูงกว่าปกติมาก และอาจกลับมาปรับตัวดีขึ้นได้บ้างเมื่อสินค้าคงคลังเริ่มปรับตัวลดลง

    - การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การผลิต Hard Disk Drive ที่ถูกทดแทนด้วย Solid State Drive ซึ่งส่งผลกระทบให้การผลิต HDD หดตัวต่อเนื่องมานาน หรือการผลิตเหล็กที่ถูกทดแทนด้วยการแข่งขันจากสินค้าจีน KKP ประเมินว่าสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นกว่า 35% ของมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตทั้งหมด


ปัจจัยเสี่ยงที่ไทยต้องเจอหลังจากนี้มีอะไร

    ข้อมูลทั้งหมดนี้สะท้อนว่าไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่พึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม KKP Research กลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว ได้แก่

    1) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่รถไฟฟ้า (EV) ที่มีสินค้าราคาถูกจากจีนไหลเข้าสู่ตลาดไทย

    2) การแข่งขันที่มากขึ้นจากสินค้าจีน ปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าหมวดยานยนต์ และ สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย

    3) มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจมีมาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและโลกเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัวลง และมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายัง ASEAN รวมถึงไทยเพิ่มขึ้น

    สุดท้ายนี้ KKP Research ประเมินว่าการเร่งดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการหาเครื่องยนต์ใหม่มาทดแทนเครื่องยนต์เดิมของเศรษฐกิจที่หายไปมิเช่นนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโตต่ำลงไปเรื่อย ๆ



Image by nuraghies on Freepik



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้มาตรการกระตุ้นรัฐ ดันไทยเที่ยวไทยปี 67 โต 4.4% แต่อาจโตไม่สุดเพราะหน้าฝน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine