เป็นอีกวันที่ทุกภาคส่วนของไทยหายใจไม่ทั่วท้อง หลัง Donald Trump ประกาศอัตราภาษีนำเข้าสินค้ากับนานาประเทศที่จะเริ่มใช้ 1 ส.ค. นี้ หนึ่งในนั้นคือไทยที่เจออัตราฯ สูงถึง 36% แม้ตัวเลขนี้เราจะคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ 2 เม.ย. 68 ที่ Trump ประกาศเมื่อวัน Liberation Day
แต่หากคิดถึงผลกระทบที่ไทยต้องเจอภาษี 36% เพิ่มขึ้นจากช่วงที่มีการผ่อนผันเหลือ 10% ไหนจะต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อาจเจอภาษีน้อยกว่า สรุปแล้วประเทศไทยกำลังจะเจอกับผลกระทบในด้านใดบ้าง
เปรียบเทียบภาษีนำเข้าฯ ‘รอบแรก vs. รอบล่าสุด’
เริ่มกันที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าฯ ที่แต่ละประเทศต้องเผชิญโดยเปรียบเทียบระหว่างที่ประกาศเมื่อ 2 เม.ย. 68 และ 7 ก.ค. 68 (ที่จะเริ่มใช้ 1 ส.ค. 68) พบว่า
- กลุ่มประเทศที่อัตราภาษีฯ เพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น (เพิ่มขึ้น 1% เป็น 25%), มาเลเซีย (เพิ่มขึ้น 1% เป็น 25%)
- กลุ่มประเทศที่อัตราภาษีฯ ลดลง เช่น จีนที่มีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง (ลดลง 24% เป็น 51%), เวียดนาม (ลดลง 26% เป็น 20%), สปป. ลาว (ลดลง 8% เป็น 40%), กับพูชา (ลดลง 13% เป็น 36%), เมียนมา (ลดลง 4% เป็น 40%) เป็นต้น
- กลุ่มประเทศที่อัตราภาษีฯ ทรงตัว เช่น ไทย (36%), อังกฤษ (10%), อินโดนีเซีย (32%), เกาหลีใต้ (25%) เป็นต้น
ทั้งนี้ อัตราภาษีนำเข้าฯ ที่ประกาศมา อาจมีการปรับเปลี่ยนตามการเจรจาหลังจากนี้ ซึ่งเบื้องต้นปรับภาษี 14 ประเทศ เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. 2025 (เลื่อนจาก 9 ก.ค. 2025)

ทำไม Trump ส่งจดหมายปรับภาษีใน 14 ประเทศ รวมถึงไทย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเราต่างรู้ว่าสหรัฐฯ ใช้เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก ซึ่งขาดดุลการค้าปีละ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดย Trump พูดชัดเจนมาเสมอว่าต้องการแก้ไขปัญหาที่สหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบทางการค้าผ่านการทำ Trade Deal ซึ่งภาษีฯ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้รายได้ฝั่งสหรัฐฯ ที่มีปัญหาด้านการคลังอยู่รวมถึงดึงการลงทุนไปในสหรัฐฯ
ขณะที่นานาประเทศยังเร่งเครื่องในการเจรจาการค้าเพื่อให้ได้เงื่อนไขดีที่สุด ตอนนี้มีเพียงเวียดนามที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนอีก 14 ประเทศที่ Trump ยื่นจดหมายการปรับอัตราภาษีฯ อาจสะท้อนได้ว่ากลุ่มนี้อาจเจรจาได้ยากขึ้น (เช่น ไทย, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เป็นต้น)
“(ใน 14 ประเทศ) ผมเชื่อว่าประตูยังไม่ได้ปิด การเจรจาคงยังมีต่อต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัดคือการที่บอกว่าเลื่อน Deadline จากวันที่ 9 ก.ค.ไปเป็นวันที่ 1 ส.ค. ก็หมายความว่าระหว่างนี้ก็จะเจรจากันไปก่อนที่จะ Effective เนี่ยถอยได้เสมอ หรือแม้กระทั่ง Effective ไปแล้วก็อาจจะถอยได้อยู่” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
โดยมีนัยสำคัญที่ระบุในจดหมายนี้คือ เงื่อนไขเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมในการเปิดตลาดของแต่ละประเทศ โดยสหรัฐฯ จะเน้น 3 เรื่อง คือ 1) Tariff Barrier อัตราภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศ 2) NoN-Tariff Barrier คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่อัตราภาษี 3) มาตรการในการเข้มงวดการสวมสิทธิ์ เช่น การไม่ให้จีนส่งสินค้าผ่านประเทศเหล่านี้กลับไปยังสหรัฐฯ ทั้ง 3 เงื่อนไขสำคัญนี้ยังพบในข้อตกลงของเวียดนาม (แต่ยังไม่เห็นเงื่อนไขที่แท้จริงของเวียดนาม)

กระทบ GDP ไทย 0.4-0.5% ตั้งแต่ปี 68-69
ดร.พิพัฒน์ เล่าต่อว่า กรณีประเทศไทยตอนนี้เสมือนถูกยื่นคำขาด ว่าให้เลือกทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเป็น Tradeoff ที่ตัดสินใจได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน หากไทยไม่สามารถประสบความสำเร็จ เสนอเงื่อนไขที่สหรัฐพึงพอใจไม่ได้จะมีความเสี่ยงที่ไทยต้องเจออัตราภาษีฯ 36% ไปเรื่อยๆ สิ่งที่น่ากังวลคือ
1) ภาคการส่งออก ภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 36% สินค้าไทยในสหรัฐฯ จะส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้นย่อมกระทบต่อความต้องการสินค้า ซึ่งปัจจุบันไทยพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 18% ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้นหากเกิดผลกระทบขึ้นย่อมกระทบต่อรายได้การส่งออกและ GDP ไทยแน่นอน
2) ภาคการลงทุน หากไทยเจอภาษีสูงกว่าคู่แข่ง ที่จะส่งผลกระทบมากกว่ายอดการส่งออกสินค้าจากไทยไปสหรัฐฯ แต่จะกระทบการลงทุนของไทยซึ่งปัจจุบันเป็นการลงทุนเพื่อเป็นฐานการส่งออก เรื่องนี้ยังส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันระยะยาวอีกด้วย
KKP Research ประเมินว่าในกรณีของการเก็บภาษีฯ 36% ที่เพิ่มขึ้นจาก 10% จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจทั้งปีที่ 0.4-0.5% ซึ่งหากไทยเจอในครึ่งปีหลังจะกระทบให้ GDP ไทยลดลง 0.2% ในปี 2568 และอาจมีผลต่อเนื่องในปี 2569)
อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ มองว่ายังต้องติดตามผลการเจรจาการค้าระหว่างกระทรวงการคลังของไทยกับสหรัฐฯ ว่าจะคืบหน้าอย่างไร รวมถึงจะ Tradeoff ผลกระทบด้านไหนที่จะเกิดขึ้นโดยมองว่าอีกส่วนสำคัญคือการทำมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นการตัดสินใจที่ยากพอสมควร
ภาพ: กสิกรไทย, KKP Research, Brendan SMIALOWSKI / AFP
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : UOB เผยผลสำรวจภาคธุรกิจกว่า 90% กังวลภาวะหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทาน แต่เร่งปรับตัวรับมือ ‘ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ’ แล้ว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine