KBank Private Banking เผยธุรกิจครอบครัวเผชิญปัจจัยเสี่ยงครั้งใหญ่ ทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ สงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ กระทบมูลค่าทรัพย์สินลดลง จับตาปรากฏการณ์ส่งต่อทรัพย์สินครั้งใหญ่ของโลก มูลค่ากว่า 2,000 ล้านล้านบาท ไทยติดกลุ่มไม่สื่อสาร เสี่ยงธุรกิจล่ม แนะธุรกิจไทยเร่งวางแผนส่งต่อคนรุ่นใหม่ เทรนด์ตั้งสำนักงานครอบครัวเพิ่ม รับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
จากการศึกษาร่วมกันระหว่าง KBank Private Banking กับ Lombard Odier พบว่า หลังการระบาดของ โควิด-19 ครอบครัวที่มีความมั่งคั่งสูงส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการส่งต่อทรัพย์สินและธุรกิจมากขึ้น เนื่องมาจากความท้าทายในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบให้มูลค่าทรัพย์สินของครอบครัวต้องมีความเสี่ยงที่จะมีมูลค่าลดลง
ทั้งจากภัยพิบัติตามธรรมชาติที่มีความถี่และรุนแรงขึ้น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภาวะสงคราม อัตราเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ภาษี และข้อบังคับต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ การวางแผนปกป้องทรัพย์สินครอบครัวจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ ในขณะเดียวกันการวางแผนส่งต่อทรัพย์สินก็เป็นเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน
ผลสำรวจพบว่า การส่งต่อความมั่งคั่งครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยการส่งต่อทรัพย์สินเฉพาะในสหรัฐฯ จะมีมูลค่ากว่า 59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท โดย 36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกส่งต่อให้ทายาท ขณะที่ 27 ล้านล้านเหรียญจะมอบให้องค์กรสาธารณกุศล และ 5.6 ล้านล้านเหรียญ จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านภาษี
“รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการเก็บภาษีมรดกมากขึ้น รวมถึงประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ก็มีแนวคิดในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งถือเป็นความท้าทายของคนรุ่นต่อไปที่จะต้องเผชิญความยากในการบริหารทรัพย์สินมากขึ้น และปัญหาสำคัญของคนไทยและชาวเอเชีย คือไม่มีพูดคุยเรื่องดังกล่าวกันในครอบครัว” พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทย
ไม่วางแผนเสี่ยงธุรกิจล่ม
พีระพัฒน์ กล่าวว่า จากผลสำรวจของ Lombard Odier 5 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น คาดว่าจะมีการส่งต่อความมั่งคั่งคิดเป็นมูลค่า 2.5 ล้านล้านเหรียญในทศวรรษหน้า พบว่า กลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างรุ่น หรือที่เรียกว่า Sandwich Generation ในครอบครัวที่อาจจะประกอบด้วยสมาชิกครอบครัวตั้งแต่ 3 รุ่นขึ้นไป
ซึ่ง Sandwich Generation นี้ จะเป็นผู้รับบทบาทสำคัญในการปกป้องทรัพย์สินจากปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ไม่ให้มีมูลค่าลดลง ในขณะเดียวกันต้องวางแผนส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัวไปยังรุ่นต่อไป โดยที่ยังต้องรับความกดดันจากคนรุ่นพ่อแม่ที่มีทัศนคติต่างกัน
จากผลสำรวจพบว่า ลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก 80-90% มองว่าการสื่อสารระหว่างรุ่นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการส่งต่อความมั่งคั่ง แต่ 50% มองว่าการสื่อสารระหว่างรุ่นเป็นเรื่องที่ยากและไม่ได้มีการสื่อสารกัน โดยเฉพาะชาวเอเชีย การไม่กล้าพูดคุยเรื่องดังกล่าว เสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวล่มสลาย และเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้
พีระพัฒน์ ยกตัวอย่างลูกค้ารายหนึ่ง ที่รุ่นพ่อมีการซื้อที่ดินไว้จำนวนมาก และไม่แจ้งให้ลูกๆ ทราบ พอต่อมาเสียชีวิตลง จึงเพิ่งรู้ว่ามีการซื้อที่ดินไว้และต้องมาแก้ปัญหาเรื่องการครอบครองปรปักษ์อย่างน้อย 8 แปลง รวมทั้งประเทศไทย มีลักษณะพิเศษที่สามารถถือครองที่ดินไม่จำกัด และคนรุ่นที่ผ่านมาชอบสะสมที่ดิน แต่ด้วยการจัดเก็บภาษีที่ดินในปัจจุบันจะทำให้การถือครองที่ดินเปล่าต้องเสียภาษีจำนวนมาก จากการคำนวณเบื้องต้น หากถือครองที่ดินเปล่าต่อไปรวม 25 ปี อัตราภาษีที่จะต้องจ่ายจะเท่ากับราคาที่ดินที่ซื้อไว้
เทรนด์ใหม่ตั้งสำนักงานครอบครัวจัดการ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างของเจนเนอเรชั่น ทำให้การวางแผนส่งต่อทรัพย์สินมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นภาระของคนรุ่นตรงกลาง หรือ Sandwich Generation ที่ใน 1 ครอบครัว อาจมี Sandwich Generation มากกว่า 1 รุ่น โดยเฉพาะคนไทย ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงต้องการให้มีมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการผลประโยชน์มากกว่าการส่งต่อมรดกแบบเดิม เช่น คนรุ่นใหม่ไม่อยากถือครองที่ดิน เพราะเป็นภาะที่จะต้องจ่ายภาษี หรือการใช้มืออาชีพเข้ามาบริหารธุรกิจ เพราะพวกเขาต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ รวมถึงมีมุมมองที่แตกต่างกันรุ่นต่อรุ่นเกี่ยวกับการลงทุน
“คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือผู้ที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์ การลงทุนของเขา คือการฝากเงิน ซึ่งภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน การฝากเงินนั้นทำให้มูลค่าของทรัพย์สินลดลง คนรุ่นใหม่จึงนิยมลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัป ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า รวมทั้งมองหามืออาชีพเข้ามาช่วยจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะกับคนแต่ละเจเนอเรชั่นมากกว่า”
พีระพัฒน์ กล่าวว่า มุมมองในการบริหารจัดการทรัพย์สินของคนรุ่นใหม่ จึงต้องการให้มืออาชีพเข้ามาช่วยในการวางแผนบริหารจัดการทรัพย์สิน ซึ่งรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้น คือการตั้งสำนักงานครอบครัว หรือ Family Office ที่มีทั้งการตั้งเป็นบริษัท หรือการให้เลขานุการของกิจการครอบครัวเข้ามาบริหารจัดการใหม่ ทั้งเรื่องการลงทุน ค่าใช้จ่ายด้านภาษี ค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงการวางแผนท่องเที่ยวของคนในครอบครัว เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเทรนด์การตั้ง Family Office ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันมีประมาณ 1,000 ครอบครัวที่มีการตั้งสำนักงาน ส่วนในไทยมีประมาณ 30 ครอบครัว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยให้การบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวประสบความสำเร็จ จะต้องมีความโปร่งใส มีการตัดสินใจที่เห็นชอบร่วมกันระหว่างคนแต่ละรุ่น รวมไปถึงการส่งต่อองค์ความรู้ จากรุ่นสู่รุ่น จะช่วยให้การส่งต่อทรัพย์สินสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ไปได้
“ในฐานะผู้ให้บริการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว มองว่าทุกครอบครัวไม่ว่าจะมีทรัพย์สินมากหรือน้อย จำเป็นจะต้องมีการบริหารสินทรัพย์ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในอนาคต และต้องไม่ลืมบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนมุมมองทรัพย์สินในครอบครัวให้เป็นองค์รวม ตั้งแต่ในระดับการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการ, การลงทุน, การจัดการความเสี่ยง, ระบบบริหารจัดการทรัพย์สิน, การจัดการภาษี, การส่งต่อทรัพย์สิน, การวางแผนผู้สืบทอด สิ่งต้องทำต่อไปก็คือ ต้องมีการสื่อสารภายในครอบครัว ที่โปร่งใส เปิดเผย และเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างรุ่น ที่สำคัญคือต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับความต้องการและช่วงเวลา” พีระพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อัจฉริยะไม่หวั่นไหว หลอมขึ้นมาใหม่ภายใต้แรงกดดัน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine