KBank เสนอบริการใหม่ ‘เตรียมแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว’ รับ The Great Wealth Transfer ปี 73 - Forbes Thailand

KBank เสนอบริการใหม่ ‘เตรียมแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว’ รับ The Great Wealth Transfer ปี 73

หนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญของโลกในปัจจุบันคือ ‘การส่งต่อความมั่งคั่งระหว่างรุ่นครั้งใหญ่’ (The Great Wealth Transfer) มีการคาดการณ์ว่าในปี 2573 ผู้มีสินทรัพย์สูงทั่วโลกจะส่งต่อความมั่งคั่งมูลค่า 18.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (662 ล้านล้านบาทไทย) ส่วนผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียจะส่งต่อทรัพย์สินมูลค่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (90 ล้านล้านบาทไทย) โดยธุรกิจครอบครัวถือเป็นแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่สำคัญสำหรับผู้มีสินทรัพย์สูง


    ทว่า ทายาทจำนวนมากไม่ต้องการรับช่วงต่อ นั่นย่อมส่งผลต่ออนาคตของธุรกิจครอบครัว

    พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director–Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ให้บริการบริหารทรัพย์สินครอบครัว พบว่าลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงกว่า 90% ของธนาคารเป็นเจ้าของธุรกิจ และหลายครอบครัวกำลังเผชิญความท้าทายในการส่งต่อ

    จากการศึกษาร่วมกับ Lombard Odier พบว่ามีทายาทจำนวนมากไม่ต้องการรับช่วงต่อ แต่ต้องการเลือกอาชีพ หรือทำธุรกิจของตนเองมากกว่า หากไม่ได้เตรียมพร้อมวางแผนในการส่งต่อจะมีธุรกิจครอบครัวที่สามารถอยู่รอดในรุ่นที่ 2 เพียง 30% ส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 3 ได้เพียง 12% และเหลือเพียง 3% ที่รอดไปสู่รุ่นที่ 4

    ความอ่อนไหวของธุรกิจครอบครัวไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการที่ไม่เป็นระบบ การขาดความโปร่งใส ระบบการตรวจสอบหละหลวม จนเป็นเหตุให้เกิดการฉ้อโกง ผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์ ขาดบุคลากรที่มีความสามารถ ขาดการวางแผนสืบทอดธุรกิจและกระบวนการคัดเลือกผู้บริหาร ดังนั้น การวางแผนและจัดโครงสร้างเพื่อปรับธุรกิจครอบครัวให้เป็นระบบจึงมีความสำคัญ เพื่อรักษาธุรกิจครอบครัวให้สามารถดำเนินต่อไป และส่งต่อธุรกิจได้อย่างราบรื่น


พีระพัฒน์ เหรียญประยูร


    นั่นเป็นที่มาของ Family Business Transformation บริการใหม่ภายใต้บริการให้คำปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Services) โดย KBank Private Banking ได้จับมือที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาระบบ โดยให้คำปรึกษาเพื่อการวางแผนธุรกิจครอบครัว ควบคู่ไปกับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัว โดยให้คำแนะนำลูกค้าตลอดกระบวนการตั้งแต่ การช่วยครอบครัวกำหนดเป้าหมายร่วมกัน วางนโยบายและกติกาภายในครอบครัว ใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ธุรกิจ และให้ข้อเสนอแนะในการจัดธุรกิจในด้านต่างๆ ให้เป็นระบบ

    ทั้งนี้ ธุรกิจครอบครัวมีความอ่อนไหว 4 ด้านคือ

    1. การกำหนดทิศทางของธุรกิจหลายแห่งมาจากครอบครัว

    2. โครงสร้างการทำงาน เช่น เจ้าของธุรกิจเข้ามาดูแลรายละเอียดทุกแผนก แทนที่จะให้ส่วนงานต่างๆ ดำเนินการเอง พอวันหนึ่งลูกหลานเข้ามาบริหาร พนักงานคาดหวังว่าเจ้านายคนใหม่จะเป็นผู้บริหารจัดการเหมือนเจ้าของเดิม

    3. การตรวจสอบภายใน เช่น บางครอบครัวมองธุรกิจว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัว เวลาจะนำออกมาใช้จึงไม่ทำเป็นระบบเหมือนบริษัททั่วไป

    4. ทรัพยากรบุคคล เช่น การใช้ตัวชี้วัดการทำงานระหว่างลูกจ้างกับคนในครอบครัวเหมือนกันหรือไม่ ผลตอบแทน เป็นอย่างไร ตำแหน่งอะไรความเป็นของครอบครัวหรือผู้บริหารมืออาชีพ 5.การจัดการบัญชีอย่างเป็นระบบ

    ปัจจุบัน KBank Private Banking มีลูกค้า 12,000 แอคเคานต์ โดย 90% ของลูกค้ามีธุรกิจครอบครัว ซึ่ง KBank Private Banking ช่วยบริหารสินทรัพย์คิดเป็น 12-15% ของทั้งหมด และปีนี้ตั้งว่าจะขยับให้ได้ 17 % เป็นอย่างต่ำ

    พีระพัฒน์บอกว่าธุรกิจที่บริหารยากที่สุดคือค้าปลีกแบบดั้งเดิม เช่น ธุรกิจยี่ปั๊วขนาดใหญ่ เนื่องจากระบบการจัดการเป็นแบบดั้งเดิมและคู่ค้าเป็นเกษตรกรซึ่งไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้การจัดการระบบบัญชี การจัดการภาษีกลายเป็นโจทย์ยาก แม้ว่าเจ้าของธุรกิจต้องการทำให้เป็นตามมาตรฐานก็ตาม

    “ครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อเรื่องการส่งต่อธุรกิจให้คนในครอบครัว ขณะที่ตลาดเอเชีย แม้แต่ฮ่องกง สิงคโปร์ เริ่มเปลี่ยนความคิดโดยมองว่าลูกเราเก่งพอหรือเปล่า เรารวยแล้วลูกอยากทำอะไร ทำไมไม่ให้โอกาส ครอบครัวในเอเชียเริ่มใช้มืออาชีพทำทั้งฝั่งธุรกิจครอบครัวและการจัดการกงสี...บ้านสมัยใหม่ในต่างประเทศอยากให้ลูกหลานเป็นผู้ถือหุ้นที่ดี ปล่อยให้มืออาชีพบริหาร แต่ต้องอ่านบัญชีเป็น ลูกหลานไม่อยู่ในธุรกิจครอบครัวได้ แต่ wealth ยังอยู่ ประเทศอื่นๆ ในเอเชียไปจุดนั้นแล้ว”

เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กรุงไทยเปิดตัว บัตรเดบิตสายมู พ่วงประกันอุบัติเหตุ ค่าธรรมเนียมรายปี 1,599 บาท

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine