กกร. มองเศรษฐกิจไทยเปราะบาง กังวล ‘ภาคผลิตหด-โรงงานปิด-สินค้าจีนตีตลาดไทย’ - Forbes Thailand

กกร. มองเศรษฐกิจไทยเปราะบาง กังวล ‘ภาคผลิตหด-โรงงานปิด-สินค้าจีนตีตลาดไทย’

การประชุมครั้งล่าสุดของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ยอมรับว่าในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยเปราะบาง และกังวลภาคการผลิตไทยหดตัวแรง ส่วนหนึ่งจากสินค้าจีนตีตลาดไทย จนยอดโรงงานปิดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะรายเล็ก - SMEs


    นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบาง ทั้งจากเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย สะท้อนจากช่วงครึ่งปีแรก 67 ขยายตัวได้เพียง 2% ขณะเดียวกันในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมไทยในอาเซียนลดลง เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เป็นผลจากที่จีนได้ส่งออกสินค้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนมากขึ้น ซึ่งมีผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกของปีหดตัว 1.8% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซของสินค้าจีน

    ขณะเดียวกัน แม้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะเริ่มนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ขยายตัวเฉลี่ยสูงกว่า 15% แต่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวสะท้อนจากยอดโอนอสังหาฯ ยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ยังหดตัว และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้น้อย

    จากปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาฟื้นตัว แต่ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร. ไว้ดังเดิม โดยคาดว่า GDP ไทย ปี 2567 จะอยู่ที่ 2.2 - 2.7% ส่วนการส่งออกจะเติบโต 0.8 1.5% และอัตราเงินเฟ้อ 0.5 - 1.0%

    ทั้งนี้ กกร. ยังมีความกังวลในด้านต่างๆ และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ได้แก่

    1) ความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน ที่ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน 19,967 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.66%YoY ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerce ที่ขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ยิ่งกดดัน SMEs

    ที่ประชุมกกร. เสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น และช่วยสร้าง Ecosystem และ Supply Chain ไทยให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

    2) สถานการณ์ภาคการผลิตที่หดตัว แม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัว 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67%YoY แต่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่าน BOI ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้น 86.31%YoY (เฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน) ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs

    ดังนั้น กกร. จึงอยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม เช่น การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) เพื่อช่วยจัดสรรเม็ดเงินลงระบบในราย Sector การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับ EV และ Transform ไปยังธุรกิจใหม่ การส่งเสริม SMEs การบริหารจัดการ waste ของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ Industry 4.0

    3) เมื่อเศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ต่ำกว่า 25% (จากเดิมที่เกือบ 30%)

    ที่ประชุม กกร. เห็นว่าไทยจำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนทางภาษีอย่างเป็นรูปธรรม ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ (Ease of doing business)

    4) สถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูง โดยหนี้เสีย (NPL) ล่าสุดเดือนพฤษภาคมสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%YoY อย่างต่อเนื่องสะท้อนภาพการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง

    กกร. รัฐต้องเร่งรัดผันเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการยกระดับกลุ่มฐานราก และภาคการผลิต ใน Real Sector ให้แข่งขันได้เพื่อสร้างรายได้ทั้งกิจการและแรงงาน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ลูกหนี้และภาคธุรกิจเข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้หรือรวมหนี้เพื่อลดภาระหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้

    สุดท้ายนี้ ที่ประชุม กกร. เห็นว่ารัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะการกระตุ้นกิจกรรมก่อสร้างภาครัฐให้กลับคืนมา นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่า ภาครัฐควร นำเทคโนโลยี เช่น Block Chain มาพัฒนากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พาณิชย์เผยเงินเฟ้อ ก.ค. 67 เพิ่ม 0.83% จากราคาน้ำมัน-อาหารยังสูงขึ้น

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine