‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อไทย มิ.ย. 67 สูงขึ้น 0.62% ผลจากค่าไฟพ้นฐานต่ำ-อาหารสดชะลอลง - Forbes Thailand

‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อไทย มิ.ย. 67 สูงขึ้น 0.62% ผลจากค่าไฟพ้นฐานต่ำ-อาหารสดชะลอลง

กระทรวงพาณิชย์เงินเฟ้อไทย มิ.ย. 67 สูงขึ้น 0.62% ถือเป็นอัตราที่ชะลอลง เพราะผลกระทบจากฐานต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนก่อนสิ้นสุดลง ส่วนกลุ่มอาหารสดสูงขึ้นแต่เป็นอัตราชะลอตัว ส่วนไตรมาส 3/67 จะแนวโน้มเงินเฟ้อจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ส่วนทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 0.0 – 1.0% (ค่ากลาง 0.5%)


    นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือน มิ.ย. 2567 เท่ากับ 108.50 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.83 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวที่ 0.62%YoY โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก ผลกระทบจากฐานต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนก่อนหน้าสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดสูงขึ้นในอัตราชะลอตัว เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกหลังจากสิ้นสุดช่วงสภาพอากาศร้อนจัด สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

    อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้น 0.62%YoY ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

    - หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.48% จากบางกลุ่มสินค้า เช่น กลุ่มข้าว แป้ง กลุ่มอาหารสด และผักสด ขณะที่ กลุ่มสินค้าที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร มะนาว ปลาทู ฯลฯ

    - หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.71%YoY จากกลุ่มราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน) กลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และกลุ่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ฯลฯ

    ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.36%YoYชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือน พ.ค. 2567 ที่สูงขึ้น 0.39%YoY

    ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 2567 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2567 ลดลง 0.31%MoM ตามการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.67% ปรับลดลงตามราคาผักสด เนื้อสุกร ปลาทู น้ำมันพืช และอาหารโทรสั่ง (Delivery) ขณะที่ ไข่ไก่ ทุเรียน มะม่วง และไก่ย่าง ราคาปรับสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่ม ลดลง 0.07% จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) และของใช้ส่วนบุคคลบางรายการ แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับสูงขึ้น เช่น น้ำมันดีเซล ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว และค่าแต่งผมสตรีและบุรุษ เป็นต้น

    แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 3 ปี 2567 คาดว่ามีแนวโน้มอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 ปี 2567 โดยปัจจัยที่ยังทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่

    1) ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า ตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ
    2) สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตรมากขึ้น หลังจากสิ้นสุดช่วงอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าภาคการเกษตรปรับเข้าสู่ระดับปกติ
    3) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกรายใหญ่ รวมทั้งการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ตามสภาวะที่มีการแข่งขันสูง

    ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ได้แก่

    1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
    2) อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน
    3) ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0 - 1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

    ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือน มิ.ย. 2567 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 52.4 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 44.5 จากระดับ 44.1 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 57.5 จากระดับ 57.9 สาเหตุที่ดัชนียังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นคาดว่ามาจาก

    1) สถานการณ์ภายนอกประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัว
    2) ความเข้มงวดของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อจากปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
    3) ความกังวลต่อภาระค่าครองชีพและราคาพลังงาน 

    อย่างไรก็ตาม มาตรการของภาครัฐต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น

    ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือน พ.ค. 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 1.54%YoY เร่งตัวขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำอันดับ 23 จาก 126 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน, สปป.ลาว, เวียดนาม, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย)



Photo by Dan Freeman on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อไทยเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.54% จาก ‘ค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ผักสด’ ยังสูง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine