โค้งสุดท้ายของปี 2566 เริ่มมีสัญญาณเงินทุนไหลเข้า หลังจากเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปี 2567 สัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุด ลุ้นทิศทางเงินทุนต่างชาติ จากการทำ Window Dressing ด้าน KBank Private Banking แนะ 4 เมกะเทรนด์ลงทุนรับมือความผันผวนในปี 2567
วันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,405.09 จุด เพิ่มขึ้น 1.01% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 35,881.28 ล้านบาท ลดลง 18.16% บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า สัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,390 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ การทำ Window Dressing หรือการปรับแผนของนักลงทุนสถาบันในช่วงสิ้นปี จะส่งผลต่อเนื่องต่อตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง คือสถานการณ์ในทะเลแดง และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง
สอดคล้องกับบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุว่า เริ่มมีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (ฟันโฟลว์) กลับมาซื้อหุ้นไทยในช่วงโค้งสุดท้ายถึง 6,700 ล้านบาท และมีโอกาสที่ฟันโฟลว์ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง เหมือนช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 ที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิ 2.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นถึง 4% ในช่วงโค้งสุดท้าย
นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินลงทุนจาก ThaiESG ที่เริ่มเข้ามา คาดว่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท บวกกับบรรยากาศปลายปีจากมาตรการ Easy E-Receipt กระตุ้นการจับจ่ายของภาครัฐ ที่คาดว่ามีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท
แนะ 4 เมกะเทรนด์ลงทุนปี 67
KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier สรุป 4 เมกะเทรนด์การลงทุนสำคัญที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ดังนี้
1. The Great Weath Transfer ภายในปี 2573 บุคคลผู้ที่มีสินทรัพย์สูงทั่วโลกจะมีการส่งต่อความมั่งคั่งที่มีมูลค่าถึง 18.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 640 ล้านล้านบาท) โดยบุคคลผู้มีสินทรัพย์สูงในเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนกว่า 70,000 ราย ส่งต่อความมั่งคั่งซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 88 ล้านล้านบาท) ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและแสวงหาโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลไฟแนนซ์ หุ้นนอกตลาด (Private Equity) ธุรกิจเงินร่วมทุน (Venture Capital) เป็นต้น
2. Sustainability Revolution Lombard Odier มองว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจกำลังเปลี่ยนผ่าน จากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมที่เรียกว่า W.I.L.D (Wasteful - สิ้นเปลือง, Idle - เกินความจำเป็น, Lopsided – ไม่ทั่วถึง และ Dirty - สกปรก) มาเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เรียกว่า C.L.I.C.® (Circular - หมุนเวียนได้ Lean - เต็มประสิทธิภาพ Inclusive - เข้าถึงคนทุกกลุ่ม และ Clean - สะอาด) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะสร้างโอกาสในการลงทุนกว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (กว่า 190 ล้านล้านบาท) ต่อปี ซึ่งโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ครั้งใหญ่นี้จะนำไปสู่ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นและลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย
3. Onshorisation ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคนส่วนใหญ่มักกระจายการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีทางเลือกและโอกาสในการลงทุนที่มากกว่า แต่ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการและที่ปรึกษาด้านการลงทุนภายในประเทศ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในประเทศได้โดยที่มีโอกาสและทางเลือกไม่ต่างกัน
นอกจากนี้ในทศวรรษที่ผ่านมา ภาครัฐและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อการดำเนินการด้านภาษีเพียงเท่านั้น แต่เป็นการระบุการไหลเวียนของเงินทุนข้ามพรมแดนและการถือครองความมั่งคั่งในต่างประเทศ จึงทำให้นักลงทุนจำนวนมากเลือกที่นำเงินลงทุนกลับมาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น
4. Current Macro Environment ตลาดที่ผันผวน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่มากขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับพลังงาน วิกฤตสภาพอากาศและสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้นำไปสู่ความไม่แน่นอนแก่เศรษฐกิจในระดับมหภาค ส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน อาทิ วัฏจักรเศรษฐกิจจากเดิมที่จะมีระยะเวลา 7-10 ปี จะสั้นลงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแย่มากว่าช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี
การจัดการการลงทุนด้วยการกระจายการลงทุนแบบดั้งเดิม (Traditional Asset Allocation) อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อีกต่อไป แต่จะต้องเป็นการกระจายการลงทุนที่ยึดความเสี่ยงเป็นหลัก (Risk-based Asset Allocation) เพื่อตอบสนองต่อสภาพเศรษฐกิจ
มอง 3 ปัจจัย หนุนตลาดขาขึ้น
ด้าน ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด มองว่า ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นในปี 2567 ภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ
1. รัฐบาลต้องบริหารเศรษฐกิจไทยให้กลับมาขยายตัวในระดับ 3-4% ต่อเนื่องในปีหน้า และปีถัดไป โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หากดำเนินการเป็นผลสำเร็จจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ดีในระยะยาว
2. รัฐบาลต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถ้าเลือกใช้ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย จะมีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจไทย
และ 3. รัฐต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ในรูปแบบที่ไม่ใช่มาตรฐานสากล เพราะอาจทำให้นักลงทุนลดการลงทุน สภาพคล่องในตลาดลดลง และส่งผลต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ
“ถ้าทำได้ทั้งสามเงื่อนไข ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมา Outperform ตลาดหุ้นโลกในปีหน้า” ไพบูลย์กล่าว
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สรุปเทรนด์ปี 2024 ผ่านมุมมอง Alumni UK
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine