สภาพัฒน์ เผยไตรมาส 3 ปี 2567 GDP ไทยขยายตัว 3% คาดทั้งปี 67 ยังโต 2.6% - Forbes Thailand

สภาพัฒน์ เผยไตรมาส 3 ปี 2567 GDP ไทยขยายตัว 3% คาดทั้งปี 67 ยังโต 2.6%

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ขยายตัว 3.0% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 2 ของปี 2567 รวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3%


    ด้านการใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส การส่งออกสินค้าและบริการ และการอุปโภคบริโภครัฐบาลขยายตัวในเกณฑ์สูง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.4% ชะลอลงจาก 4.9% ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายในทุกหมวดสินค้าและการลดลงต่อเนื่องของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัว 6.5% ชะลอลงจาก 8.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอลงของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร การบริการด้านสุขภาพ การบริการขนส่ง และกลุ่มสถานบันเทิงอื่นๆ

    การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 2.4% ชะลอลงจาก 3.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอลงของการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และการใช้จ่ายกลุ่มไฟฟ้า แก๊ส และเชื้อเพลิงอื่นๆ

    การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 3.5% ชะลอลงจาก 4.3% ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง และการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง 9.9% ต่อเนื่องจากการลดลง 7.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะ

    สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 50.1 ลดลงจากระดับ 54.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 6.3% เร่งขึ้นจาก 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดขยายตัวในเกณฑ์สูง 36.9% ค่าตอบแทนแรงงาน (เงินเดือน ค่าบำเหน็จบำนาญ) ขยายตัว 1.1% ขณะที่ค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส 8.5% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 19.9% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 31.6% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 20.5% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวม 9 เดือนแรกของปี 2567 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.0% และการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.6%


    การลงทุนรวม ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส 5.2% จากการลดลง 6.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาส 2 ที่ 2.5% เทียบกับการลดลง 6.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือ 1.6% ต่อเนื่องจากการลดลง 8.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนหมวดยานยนต์โดยเฉพาะรถบรรทุกและยานพาหนะอื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และการลงทุนในหมวดการก่อสร้างลดลง 6.0% เทียบกับการลดลง 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนจากความเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อที่ปรับตัวลดลง

    การลงทุนภาครัฐ ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสที่ 25.9% เทียบกับการลดลง 4.0% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูง 43.1% ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 1.1% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 26.3% (สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 25.4% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 20.9% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวม 9 เดือนแรกของปี 2567 การลงทุนรวมลดลง 1.7% โดยการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐลดลง 1.4% และ 2.3% ตามลำดับ

    ทั้งนี้ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 77,221 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ 8.9% ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร ขณะที่การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 71,448 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 11.3% เร่งขึ้นจาก 1.2% ในไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของการนำเข้าในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยปริมาณการนำเข้ารวมขยายตัว 9.7% ขณะที่ราคานำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (198.5 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (203.1 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อน

    ด้านการผลิต สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 0.1% จากไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.3% สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัว 8.4% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ราว 7.8% สาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ ขยายตัว 9.0% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 8.1% ในไตรมาสก่อนหน้า สาขาการขนส่งขยายตัวต่อเนื่อง ขยายตัว 9.0% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 8.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกที่ 15.5%ในรอบ 4 ไตรมาส หลังจากไตรมาสก่อนหน้าลดลง 5.5% ขณะที่สาขาเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่อง โดยลดลง 0.5% ในไตรมาส 3/67 นี้

    เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.02% ต่ำกว่า 1.07% ในไตรมาสก่อน แต่สูงกว่า 0.99% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.0 พันล้านเหรียญสหรัญ (198.5 พันล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ 243.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.3% ของ GDP


    อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ยังคาดว่าจะขยายตัว 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 2.5% ของ GDP

    แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.3-3.3% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

1) การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ
2) การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ
3) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
4) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า

    นอกจากนี้ การประมาณการเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่า

- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.0% ต่อเนื่องปี 2567 ที่ 4.8%
- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดว่าจะขยายตัว 2.1% ต่อเนื่องปี 2567 ที่ 1.7%
- การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัว 3.9% ถือว่าเร่งขึ้นจากปี 2567 แบ่งเป็น 1) การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวที่ 2.8% 2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 6.5%
- มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ต่อเนื่องจาก 3.8% ในปี 2567
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.3-1.3%
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของ GDP

    ความท้าทายของเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 คือ การรับมือจากการมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นมองว่าควรหันมาสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม

    ทั้งนี้ ทางสภาพัฒน์จะติดตามและประเมินสถานการณ์การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า

    นอกจากนี้ ยังควรเร่งรัดดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูง



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : EGCO Group ประกาศกลยุทธ์ 3 ปี ลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท เน้นพลังงานสะอาด ไม่ลงทุนเพิ่มในถ่านหิน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine