ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ลุ้นการประกาศตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒน์ คาดปรับลดลง หลังตัวเลขกระทรวงการคลังเปิดมาก่อนหน้านี้เติบโตเพียง 1.8% ในปี 2566 และปรับลดคาดการณ์การเติบโตปี 2567 กดดันลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,370 และ 1,355 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,410 จุด ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว
ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ จับตาการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2566 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หลังรัฐบาลมีการแต่งตั้งประธานบอร์ดสภาพัฒน์ชุดใหม่ที่มี ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นประธาน โดยจะมีการแถลงตัวเลขจีดีพีในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงจากเป้าหมายที่ 2.5% ขณะที่ปี 2567 แนวโน้มขยับลงเช่นเดียวกัน หลังจากก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเปิดตัวเลขลดลง เหลือขยายตัว 1.8% และ 2.3 – 3.3% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ กดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตรานโยบายนโยบายลงในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากอัตราเงินเฟ้อต่ำยังคงติดลบต่อเนื่อง
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวในกรอบแคบท่ามกลางปริมาณการซื้อ-ขายที่ค่อนข้างเบาบาง ในขณะที่ตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาคปิดทำการในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยในช่วงต้นสัปดาห์หุ้นไทยมีแรงหนุนจากสัญญาณที่สะท้อนว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมคุมเข้มการทำธุรกรรม Short selling และ Program trading
อย่างไรก็ดี หุ้นไทยปรับตัวลงในช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ม.ค.ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้นักลงทุนประเมินว่าเฟดอาจเลื่อนช่วงเวลาปรับลดดอกเบี้ยออกไปอีก
ประกอบกับมีแรงขายหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลังผลประกอบการไตรมาส 4/66 ของผู้ประกอบการรายหนึ่งออกมาน่าผิดหวัง หุ้นไทยกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยแม้จะมีแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปในหลายกลุ่มเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก แต่กรอบการฟื้นตัวยังจำกัด เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามตัวเลขจีดีพีของไทย ซึ่งจะประกาศในช่วงต้นสัปดาห์นี้
โดยวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,386.27 จุด ลดลง 0.15% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 36,085.91 ล้านบาท ลดลง 14.02% ส่วนสัปดาห์นี้บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,370 และ 1,355 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,410 จุด
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว
ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว โดยแรงสนับสนุนหลักมาจากภาคบริการ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัว เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ
โดยมองว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยได้สิ้นสุดแล้ว และปัจจุบันอยู่ในช่วงนับถอยหลังสู่การปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งหากเจาะลึกลงไปในประเทศหลักๆ จะพบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) โดยในปีนี้จะชะลอลงจากปีก่อน แต่ยังไม่น่ากังวลมากนัก และคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปีเป็นต้นไป
ในส่วนของยูโรโซน แม้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาสามารถพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้อย่างหวุดหวิด แต่เศรษฐกิจของยูโรโซนจะยังคงฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ จึงอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐฯ
สำหรับญี่ปุ่น เศรษฐกิจในปีที่ผ่านมามีการฟื้นตัวและเติบโตขึ้น 1-2% เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปีนี้จะเริ่มชะลอตัว และด้วยเงินเฟ้อที่ระดับ 2% จึงคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการปรับนโยบายขึ้นมาเป็นบวก
ทางฝั่งของจีน เศรษฐกิจในปีนี้น่าจะชะลอตัวอยู่ที่ระดับ 4-6% จากเดิมปีที่แล้วอยู่ที่ 5% โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน
สำหรับประเทศกลุ่ม ASEAN 5 ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 4.7% สูงขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 4.2% นับเป็นหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคที่มีการเติบโตที่ดี
“ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีกว่าปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่งผลให้การจ้างงานและภาคการบริโภคฟื้นตัวตามไปด้วย ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐจะเริ่มกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่หลังจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ผ่านสภาในช่วงเมษายน-พฤษภาคม
ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังคงเกิดจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ต้นทุนสูง ปัญหาเชิงโครงสร้าง ตลอดจนความไม่แน่นอนในเชิงนโยบาย” ดร.พิมพ์นารากล่าว
บล.กรุงศรีให้เป้า 1,450 จุด
อิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองภาพรวมเกี่ยวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ และหุ้นไทยในปีนี้ว่า ช่วงไตรมาส 4/2567 ภาพรวมตลาดหุ้นคาดว่าจะเติบโต 1.6% แต่หากเอาหุ้นเทคที่กล่าวถึง 6-7 ตัวออก อัตราการเติบโตของรายได้ (Earning Growth) จะยังคงติดลบอยู่ประมาณ 10% ดังนั้นจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยอาจจะเพิ่มหุ้น Defensive เช่น หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึงหุ้นกลุ่ม Generative AI ซึ่งหากใครยังไม่มีอาจจะต้องรอจังหวะค่อยๆ สะสมไป รวมไปถึงพันธบัตรรัฐบาลที่น่าสนใจด้วย Yield ที่สูงประมาณ 4% ถือไว้ยังไงก็ไม่ขาดทุน
“ในส่วนของตลาดหุ้นไทยค่อนข้าง Laggard และตอนนี้เข้าข่าย Low Growth, Low Inflation ซึ่งน่าจะปิดปีที่ประมาณ 1,450 แต่ถ้าเฟดลดดอกเบี้ยได้เร็ว และตลาดเริ่มฟื้นอาจจะปิดที่ประมาณ 1,500 แนะนำควรจะหลีกเลี่ยงหุ้นใหญ่ และรอดูสัญญาณ เศรษฐกิจในภาพใหญ่ก่อน เน้นหุ้นที่มีธีมชัดๆ และมี Earning Growth ที่ชัดเจน เช่น หุ้นกลุ่ม ICT ได้แก่ TRUE หรือ ADVANC รวมไปถึงกลุ่มสินค้าแฟชั่นอย่าง MC และ Sabina ซึ่งเป็นหุ้นตัวเล็กทั้งคู่ แต่ Perform ค่อนข้างดี” อิสระระบุ
อย่างไรก็ตาม บล.กรุงศรีได้มองเป้าดัชนีหุ้นไทยไว้ใน 3 กรณี คือ 1.หากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะอยู่ที่ 1,717 กรณีที่ 2 หากไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะอยู่ที่ 1,644 และ 3. หากเศรษฐกิจเติบโตชะลอ และเงินเฟ้อต่ำ ดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ 1,465 จุด
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ยูโอบี ประเมินจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัวได้ 3.6% จากภาคส่งออก และท่องเที่ยวฟื้นตัว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine