เดือน พ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ร่วงต่อเนื่อง เหตุ “กำลังซื้อเปราะบาง - หนี้ครัวเรือนสูง” - Forbes Thailand

เดือน พ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ร่วงต่อเนื่อง เหตุ “กำลังซื้อเปราะบาง - หนี้ครัวเรือนสูง”

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ค. 67 อยู่ที่ 88.5 ร่วงต่อเนื่อง สาเหตุหลักเพราะกำลังซื้อเปราะบาง และหนี้ครัวเรือนยังสูง รวมถึงราคาน้ำมันแพงขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แนะรัฐออกมาตรการช่วยกรณีราคาน้ำมันพุ่ง หนุน SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน และอื่นๆ


    ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ และนายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือน เม.ย. 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

    ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง

    ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทัน เนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ตลอดจนผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทยและอาเซียนมากขึ้น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร

    อย่างไรก็ตาม ในเดือน พ.ค. ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รวมทั้งการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกันวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหารในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36 - 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

    จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,329 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือน พ.ค. 2567 พบว่า 

ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่

    - ราคาน้ำมัน 61.3%
    - เศรษฐกิจในประเทศ 59.9%
    - สถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.1% ตามลำดับ

ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่

    - เศรษฐกิจโลก 66.2%
    - อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 60.9%
    - อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) อ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 35.7%

    ขณะที่ ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับตัวลดลง จาก 98.3 ในเดือน เม.ย. 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหา Geopolitics ในตะวันออกกลาง ส่งผลให้เกิดความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และเกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ 

    อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ปี 2567 ภายหลังจาก พ.ร.บ.ประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ และมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ตลอดจนการสนับสนุนให้อบรมสัมมนาจังหวัดเมืองรอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโลว์ซีซั่น

    ทั้งนี้ ทางสภาอุตสาหกรรม ได้ออก 4 ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 

    1. ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซ

    2. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทันเนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

    3. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ รวมถึงปรับปรุงเงื่อนไขและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

    4. ออกมาตรการส่งเสริมการซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเฉพาะอาหารไทย เครื่องนุ่งห่มและสินค้ากีฬา เป็นต้น



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCB EIC หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.5% เหตุ ‘ส่งออกแผ่ว - สินค้าจีนตีตลาด - ครัวเรือนเปราะบาง’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine