FETCO ชี้จุดเปลี่ยนโลก ‘ดอกเบี้ยขาลง’ ลุ้นตลาดหุ้นคึก แต่เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง ‘ฟื้นไม่ทั่ว-หนี้สูง’ - Forbes Thailand

FETCO ชี้จุดเปลี่ยนโลก ‘ดอกเบี้ยขาลง’ ลุ้นตลาดหุ้นคึก แต่เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง ‘ฟื้นไม่ทั่ว-หนี้สูง’

แม้เดือน ส.ค. ตลาดหุ้นไทยจะมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะด้านการเมือง จน SET Index ร่วงต่ำกว่า 1,300 จุด แต่ล่าสุด FETCO เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน พบว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นไทยจะร้อนแรง เพราะมีแรงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่วน 2-3 ปีข้างหน้าโลกจะฟื้นตัวท่ามกลางภาวะ ‘ดอกเบี้ยขาลง’ แต่ไทยยังมีปัจจัยฉุดคือความไม่แน่นอนทางการเมืองและการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ


เดือน ส.ค. หุ้นไทยร่วงต่ำ 1,300 จุด แต่ 3 เดือนข้างหน้าเชื่อว่าจะ ‘ร้อนแรง’

    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยว่า เดือน ส.ค. 2567 ที่ผ่านมามีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะปัจจัยการเมืองในประเทศ อย่างผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการยุบพรรคก้าวไกลและการถอดถอนนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินทำให้บางช่วงดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,300 จุด

    ช่วงครึ่งเดือนหลังพบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยทั้ง GDP และการส่งออกดีขึ้น รวมถึงปัจจัยการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้นส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2567 ปิดที่ 1,359.07 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือน ส.ค. 2567 อยู่ที่ 44,404 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6,133 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 123,692 ล้านบาท

    ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ที่ระดับ 132.51 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณบวกจากความชัดเจนของการเมืองในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสภาวะเงินเฟ้อ


เมื่อโลกจะเข้าสู่ ‘ดอกเบี้ยขาลง’

    ตลาดการเงินไทยยังต้องติดตามปัจจัยต่างประเทศ คือ สถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า

    หลังจากนี้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะที่ธนาคารกลางทั่วโลกทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทั้ง Fed ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และฝั่งเอเชีย ซึ่งจะช่วยให้ Mood ของตลาดดีขึ้น ถือเป็นช่วงที่เห็นการฟื้นตัวพร้อมกันทั่วโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) หลายประเทศผ่านจุดต่ำสุดแล้ว การส่งออกฟื้นตัวขึ้น และมีแรงกระตุ้นจากธนาคารกลางทั่วโลก

    จากสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มองว่ามี 3 ประเด็นที่ต้องติดตามคือ

    1) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายท่ามกลางสภาพคล่องจำนวนมากในตลาด

    เมื่อย้อนดูการอัดฉีดสภาพคล่องของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา พบว่าก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2551) อยู่ราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาเมื่อมีการทำ Quantitative Easing หรือ QE สภาพคล่องจึงเพิ่มสู่ระดับ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จนเกือบ 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

    กระทั่งเกิด COVID-19 ขึ้นจึงมีการอัดฉีดอีกประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 1-2 ปี จนสภาพคล่องของตลาดปรับขึ้นไปถึงระดับ 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากนั้นเมื่อ COVID-19 จบลง Fed เริ่มทยอยดูดสภาพคล่องกลับจนปัจจุบันสภาพคล่องอยู่ราว 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่ามีอยู่สูงมาก

    2) ผลกระทบต่อ Asset inflation

    ราคาสินทรัพย์ต่างๆ จะถูกสภาพคล่องที่มีอยู่จำนวนมากออกไปแย่งซื้อ ทำให้ราคาสินทรัพย์จะดีเป็นพิเศษ และจะทำให้ Fed ต้องตัดสินใจว่า ความตั้งใจที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ จะฟูและเป็นฟองสบู่อีกรอบ (อย่างที่เห็นว่าตลาดหุ้นในสหรัฐฟื้นตัวขึ้นหลังจาก Black Monday ที่เกิดขึ้น รวมถึงราคาหุ้นกลุ่ม Tech ราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา)

    3) ความผันผวนในตลาดการเงิน 

    ความผันผวนในตลาดการเงิน ยังต้องติดตามว่า หาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ จะส่งผลอย่างไร อาทิ ช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลารสหรัฐที่เมื่อมีการเคลื่อนไหวในทางได ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าเงิน เช่น ค่าเงินเยน และค่าเงินบาท ฯลฯ


เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังเสี่ยง ‘ฟื้นไม่ทั่ว-หนี้เสียสูง’

    ปัจจุบันมองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มจะไปได้ คาดว่า GDP ไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ราว 3% (บวกลบ) โดยมีผลดีจากการฟื้นตัวของโลกที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด เครื่องยนต์หลักยังคงเป็นการส่งออกที่ฟื้นตัวตามกระแสโลก และการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวมากในช่วงปลายปี (คาดว่าเเดือน ธ.ค. 67 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 4 ล้านคน)

    ในด้านความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ยังต้องติดตามความต่อเนื่องของนโยบายจากงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งและสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือที่อาจกระทบเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว โดยไทยยังฟื้นไม่ทั่วถึง (ลักษณะ K-Shape) ในส่วนรากฐานมีปัญหามาก ทั้งตัวเลขหนี้เสียที่อยู่ในระดับสูง สินเชื่อเช่าซื้อสินเชื่อบ้านยังมีกลุ่มระมัดระวังเพิ่มขึ้น ดังนั้นมองว่าการกระตุ้นระยะสั้นด้วย เงิน 10,000 บาท หากทำในกลุ่มเปราะบาง และทำแบบมุ่งเป้า และใช้วิธีการที่ไม่ซับซ้อนเกินไป ง่ายและตรงที่สุด โดยไม่ใช้ตัวเลขที่เยอะจนเกินไป น่าจะช่วยฐานรากได้บางส่วน

    แต่ในระยะถัดไป หลังจากการช่วยเหลืออย่างมุ่งเป้าแล้ว มองว่าต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย เช่น มาตรการลงทุนขนาดใหญ่ EEC มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการขยายสนามบิน เป็นต้น โดยต้องดูทั้งโจทย์การดึงนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย

    ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายปีนี้จะมีผลดีจากของกองทุนวายุภัคเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาเพิ่ม 150,000 ล้านบาท และจากกองทุนรวม Thai ESG อีกราว 50,000 - 60,000 ล้านบาท ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดทุนไทย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ทำไม Fed ถึงได้พลาด

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine