FED เตรียม 'ปรับงบดุล' งดซื้อพันธบัตรลดสภาพคล่อง 2.2 ล้านล้านเหรียญ ผลกระทบต่อไทย? - Forbes Thailand

FED เตรียม 'ปรับงบดุล' งดซื้อพันธบัตรลดสภาพคล่อง 2.2 ล้านล้านเหรียญ ผลกระทบต่อไทย?

ธนาคารกสิกรไทย จัดงานสัมมนา “เกาะติดสถานการณ์ไตรมาสสอง ทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารกสิกรไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังร่วมให้ข้อมูลอย่างคับคั่ง

ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดบนเวทีซึ่ง Forbes Thailand คัดเลือกมารายงานคือ ทิศทางนโยบายของสหรัฐอเมริกา ทั้งการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของประธานาธิบดี Donald Trump การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และการปรับงบดุล (balance sheet) ของสหรัฐฯ จะกระทบกับประเทศไทยอย่างไร? เริ่มกันที่ วรดา ตันติสุนทร และ อัญชลี ซิงห์ สองผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกันวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาโดยพื้นฐาน พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ เติบโต 1.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และมีแนวโน้มจะฟื้นตัวต่อเนื่อง เนื่องจากการลงทุนและการใช้จ่ายภายในประเทศเติบโตขึ้น, ตลาดแรงงานแข็งแกร่ง รายได้ต่อหัวสูงขึ้น, ประชาชนมีความมั่นใจในการจับจ่าย ทำให้ธุรกิจรีเทลฟื้นตัว แต่ประเด็นคำถามที่รออยู่คือ ตั้งแต่ยุควิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2008 สหรัฐฯ มีการใช้มาตรการ QE (Quantitative Easing) ซื้อพันธบัตรจนทำให้งบดุลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 9.96 แสนล้านเหรียญช่วงก่อนเกิดวิกฤต มาเป็น 4.46 ล้านล้านเหรียญในปี 2017 ดังนั้น FED จะต้องหาทางลดงบดุลหลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามแผนสำเร็จ โดยกสิกรไทยเชื่อว่าระหว่างนี้อยู่ในช่วงทำแผนเพื่อปรับลดงบดุล ก่อนจะเริ่มใช้มาตรการจริงในปี 2018 ส่วนนโยบายของ Donald Trump ที่น่าสนใจคือการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ 1)ลดภาษีนิติบุคคล เช่น ลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15%, เปลี่ยนการคำนวณภาษีบริษัทอเมริกันจากฐานรายได้ทั่วโลกมาเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ 2)ลดภาษีบุคคลธรรมดา เช่น ปรับอัตราขั้นบันไดภาษีใหม่เหลือเพียง 3 ระดับ และลดภาษีสูงสุดจาก 39.6% เหลือ 35% แต่ประเด็นการปฏิรูปภาษีของ Trump มีข้อกังขาว่าในที่สุดจะผลักดันออกมาได้อย่างราบรื่นหรือไม่ หลังจากที่กฎหมายด้านสาธารณสุขฉบับใหม่ที่จะมาแทนที่ Obama Care ถูกคัดค้านแม้แต่จากพรรครีพับลิกันของ Trump เอง  

หวั่นสหรัฐฯลดงบดุลเร็วเกินไป

ด้าน กอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ถูกมองว่าจะมีผลทางอ้อมในการดึงดูดให้เงินทุนไหลกลับสู่สหรัฐฯ แต่กรณีที่ใหญ่กว่าคือการลดงบดุล ซึ่งจะทำให้เงินทุนในประเทศอื่นลดลงโดยตรง โดยการที่สหรัฐฯ จะหยุดเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ในประเทศต่างๆ เพื่อกำจัดสภาพคล่องส่วนเกินใน FED ที่มีกว่า 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่ากับครึ่งหนึ่งของงบดุลในปัจจุบัน ซึ่งการลดทรัพย์สินของ FED ถือเป็นความเสี่ยงเพราะการลดงบดุลเร็วเกินไปจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาก และอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่ได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงปี 2012-2015 นอกจากนี้ กอบสิทธิ์ กังวลว่านโยบายปฏิรูปภาษีของ Trump เมื่อมีการลดภาษีแต่จะเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ Trump จะนำเงินส่วนไหนมาชดเชยรายได้ที่ลดลงไป เพราะงบประมาณรัฐบาลกลางสหรัฐฯยังคงอยู่ในภาวะขาดดุล รวมถึงหนี้สาธารณะสูงคิดเป็น 107% ของ GDP ซึ่งหากชี้แจงไม่ได้อาจจะทำให้นโยบายนี้ไม่ผ่านเป็นกฎหมาย  

FED ลดงบดุล ผลกระทบต่อไทย?

ข้ามมาที่ ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มองว่าทั้งนโยบายจูงใจบริษัทอเมริกันให้กลับสู่ประเทศและการลดงบดุลด้วยการหยุดซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้นั้น จะกระทบประเทศไทยไม่มากนัก เนื่องจากสถิติปี 2016 การลงทุนทางตรง (FDI) ของสหรัฐฯ ในไทยมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 7.7% เป็นอันดับ 3 ของประเทศที่เข้ามาลงทุนทางตรง ยังน้อยกว่าสัดส่วนของญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วน FDI คิดเป็น 36.2% และ 14.8% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนที่เป็นหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ยอมรับว่าค่อนข้างใหญ่ เพราะเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่า 2.64 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 20.8% ของการลงทุนหลักทรัพย์ทั้งหมด แต่ผลกระทบอาจไม่มาก เพราะทุนต่างชาติเข้ามาถือครองหนี้สาธารณะไทยในรูปพันธบัตรประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีสัดส่วนสูง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ รวมถึงประเทศไทยมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง  

ค่าเงินดอลลาร์จะขึ้นหรือลง

คำถามถัดมาในโลกการเงินคือ แต่ละมาตรการจะทำให้ค่าเงินเป็นอย่างไร คำตอบได้จาก กิตติ เจริญกิจชัยชนะ ผู้บริหารกลุ่มงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย กิตติกล่าวว่า 1 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 34.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหลังจากสถานการณ์การเมืองในยุโรปผ่อนคลายลง ส่วนปัจจัยที่จะเป็นผลกระทบกับค่าเงินดอลลาร์จากนี้ ได้แก่
  • นโยบายปฏิรูปภาษี หากผ่านกฎหมายสำเร็จเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์จะแข็งขึ้นไปถึง 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ แต่หากมีแนวโน้มไม่สำเร็จ อาจกลับกันทำให้ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงเหลือ 30-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแทน
  • การลดงบดุล หากเริ่มใช้นโยบายนี้จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นมาก
“ส่วนตัวมองว่าการปฏิรูปภาษีจะทำได้ง่ายกว่ากฎหมายสาธารณสุขที่เคยมีปัญหา เพราะนี่คือประเด็นสำคัญในนโยบายประธานาธิบดี Trump ซึ่งเขาจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ และยังมีแผนรองรับหากเกิดอะไรขึ้น สหรัฐฯ สามารถพิมพ์เงินเข้ามาเติมในระบบได้ทันที” กิตติกล่าว  

จับตาวิกฤตครั้งใหม่จะเกิดที่ใด?

กวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการดูแลงบดุลของสหรัฐฯ อาจกระทบไทยน้อยเพราะที่ผ่านมามีเงินทุนสหรัฐฯเข้าซื้อพันธบัตรน้อยจากความผันผวนทางการเมืองไทยตลอดหลายปี ในขณะที่ประเทศเกิดใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะประเทศจีนนั้นรับมาตรการ QE ของสหรัฐฯไปมาก และเศรษฐกิจจีนเองเติบโตมาเพราะค่าแรงที่ต่ำ แต่ปัจจุบันค่าแรงชาวจีนพุ่งเกินหน้าไทยแล้ว ดังนั้นเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือ การปรับงบดุลของสหรัฐฯ ที่จะต้องมีความสมดุล ไม่เร็วจนเกินไป และการปรับตัวของเศรษฐกิจจีนจะยังสามารถเติบโตต่อได้หรือไม่ อีกส่วนคือ การขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่คาดการณ์ว่าจะทำให้เงินทุนไหลออก แต่ปรากฏว่ามีเงินทุนต่างชาติเข้ามาที่ตลาดหุ้นไทยจำนวนมากแทน เนื่องจากนักลงทุนมีลักษณะเดียวกันหมดคือ Searching for yield เมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯปรับขึ้น ย่อมต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้นในแหล่งลงทุนอื่นๆ จึงต้องยอมเสี่ยงเข้าสู่ตลาดหุ้นแทนที่การลงทุนพันธบัตร ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นไปด้วย และกระทบถึงต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจที่แท้จริง (real sector) “เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากเพราะค่าใช้จ่ายของ real sector จะเพิ่มขึ้น ทั้งค่าน้ำมัน ค่าที่ดิน แต่โครงสร้างของไทยยังแข็งแกร่ง เชื่อว่าวิกฤตจะไปเกิดกับประเทศอื่นที่โป่งเป็นลูกโป่งรออยู่แล้ว อยู่ที่ว่าใครจะแตกก่อนกัน” กวีกล่าวปิดท้าย