EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดประมาณการณ์จีดีพีปีนี้เหลือโตร้อยละ 1.9 โควิดระลอก 3 ทำเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาท หั่นจำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 4 แสนคน พร้อมปรับเป้าหมายส่งออกโตร้อยละ 15 หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เชื่อมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อระยะสั้น แนะเร่งฉีดวัคซีน แก้ปัญหาแรงงาน
ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า EIC ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงเหลือร้อยละ 1.9 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2 เป็นผลจากการระบาดของโควิดระลอก 3 ซึ่งส่งผลกระทบค่อนข้างมาก และคาดว่าจะใช้เวลา 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค.) ในการควบคุม ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดย EIC ปรับลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวปีนี้เหลือ 4 แสนคน จากเดิมคาด 1.5 ล้านคน “การระบาดของโควิดระลอก 3 สร้างความเสียหายประมาณ 3.1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้จีดีพีไทยไตรมาส 2 ติดลบ ขณะที่ล่าสุดยังเห็นประเทศต่างๆ ยังคงระมัดระวังเรื่องการเดินทางค่อนข้างมาก จากการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ทำให้ฟื้นตัวได้ช้า คาดว่าจีดีพีจะกลับไปเท่ากับปี 2562 ได้ต้องใช้เวลาถึงปี 2566” ยรรยงระบุ อย่างไรก็ตาม ที่ EIC ปรับลดคาดการเศรษฐกิจไทยลงเล็กน้อย เป็นเพราะแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกไทยที่แข็งแกร่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ฉีดวัคซีนได้เร็วและเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐจาก พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และพรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่ง EIC คาดว่าจะมีเม็ดเงินราว 1 แสนล้านบาทเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ ยรรยง ย้ำว่าการเร่งฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้ในระยะสั้น ควบคู่กับมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับ New Normal จะช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบถาวร ปรับเป้าส่งออกขยายตัวร้อยละ 15 ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่จะมีความแตกต่างในแต่ละประเทศ โดยรวม EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 5.6 โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 6.7 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวเท่ากับช่วงก่อนเกิดการระบาด ขณะที่ในอเมริกาใต้มีการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ในเอเชียยกเว้นจีนยังเติบโตช้า ทั้งนี้ การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก EIC จึงปรับประมาณการส่งออกจากขยายตัวร้อยละ 8.6 เป็นขยายตัวร้อยละ 15 ในปีนี้ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับอีกหลายประเทศที่การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก ซึ่งไทยได้อานิสสงส์ในกลุ่มอิเลกทรอนิกส์และยานยนต์ สอดคล้องกับดัชนี PMI ของภาคอุตสาหกรรมของหลายประเทศที่มีความต้องการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น ทำให้สินค้าส่งออกทุกกลุ่มของไทยกลับมาขยายตัวสูงกว่าช่วงก่อนโควิด จากแนวโน้มดังกล่าว EIC คาดการว่าการลงทุนภาคเอกชนจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรที่ฟื้นตัวตามการส่งออก รวมถึงการลงทุน 5จี ระบบขนส่ง และอีคอมเมิร์ซ ขณะที่การลงทุนก่อสร้างยังซบเซาต่อเนื่อง จากปริมาณสต๊อกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีจำนวนมาก เช่น คอนโดมิเนียม แนะรัฐเตรียมรับมือแผลลึกทางเศรษฐกิจ สำหรับเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอก 3 มากกว่าที่คาด แม้รัฐบาลจะหลีกเลี่ยงมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่การระบาดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 4 ทำให้ประชาชนกังวลส่งผลต่อการเดินทาง โดย EIC ปรับลดการเดินทางในประเทศลงเหลือ 80 ล้านทริป จากคาดการณ์เดิม 98.7 ล้านทริป และส่งผลกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการอื่นๆ เช่น ค้าปลีก เป็นต้น นอกจากนี้ การระบาดที่ยืดเยื้อมีแนวโน้มทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจลึกขึ้น ซึ่งข้อมูลล่าสุดระบุว่าอัตราการว่างงานกลับมามีทิศทางเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเพิ่มจากร้อยละ 1.86 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.96 คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานจำนวน 7.6 แสนคน สูงกว่าการปิดเมืองในครั้งแรก ซึ่งหากรวมกับการระบาดระลอก 3 ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีโอกาสที่อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นได้อีก ขณะที่ตัวเลขของกลุ่มคนเสมือนว่างงานยังไม่ตกงานแต่ไม่มีรายได้มีอยู่ถึง 7.8 แสนคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 3.6 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้านี้ “แผลเป็นในตลาดแรงงานที่ลึกขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวได้ยาก ประกอบกับภาระหนี้ที่สูงขึ้น ทำให้คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาหนี้สูงจะเป็นอีกอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า” ยรรยงกล่าว ทั้งนี้ EIC มองว่าภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจในขณะนี้ การออกพรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ถือเป็นนโยบายที่เหมาะสมในเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติควรใช้เงินอย่างคุ้มค่า เร่งสร้างความเชื่อมั่นและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนการจ้างงาน ควบคู่กับการออกมาตรการเพื่อปรัปปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นตัวในระยะต่อไป เช่น การปรับทักษะแรงงานด้านดิจิทัล เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม: AirAsia Group เดินหน้าระดมทุน หลังขาดทุน 7 ไตรมาสติดไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine