กรณีศึกษา 'แชร์ลูกโซ่' ในไทย เมื่อ DSI เผย 85% ผู้เสียหายฯ ‘รู้หรือควรรู้’ แต่ยังลงเงินเพราะผลตอบแทนสูง - Forbes Thailand

กรณีศึกษา 'แชร์ลูกโซ่' ในไทย เมื่อ DSI เผย 85% ผู้เสียหายฯ ‘รู้หรือควรรู้’ แต่ยังลงเงินเพราะผลตอบแทนสูง

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘แชร์ลูกโซ่’ กลายคำที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า แชร์ลูกโซ่ เป็นวิธีการหลอกลวงระดมเงินจากประชาชนที่ทำกันเป็นเครือข่าย โดยโฆษณาจูงใจว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนทั่วไป แชร์ลูกโซ่มักแอบแฝงมากับธุรกิจขายตรงหรือการชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรมาก และจะหาสมาชิกใหม่ไปเรื่อย ๆ เพื่อหมุนเงินค่าสมัครมาจ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกเดิม โดยอาจมีธุรกิจอื่นมาบังหน้า และสุดท้ายอาจปิดกิจการหายไปตัวไป


    ในความเป็นจริงแล้ว ‘แชร์ลูกโซ่’ ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังมีชื่อคดีฉ้อโกงประชาชนครั้งใหญ่ เช่น แชร์แม่ชม้อย ยูฟัน Forex3D ฯลฯ ยิ่งเมื่อโลกออนไลน์และ Social Media แพร่หลายยังทำให้การโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และอาจทำให้แชร์ลูกโซ่ดูจะซับซ้อนยิ่งขึ้น

    เมื่อสืบค้นไปใน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยังพบว่าเฉพาะในเดือน ก.ย. และ ต.ค. 2567 มีข่าวกรณีแชร์ลูกโซ่ที่สร้างความเสียหายต่อประชาชน เช่น

    - กรณี กองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากล (กทพส.) ที่ DSI เล่าว่า มีการหลอกลวงให้ประชาชนสมัครสมาชิกและออมเงินเพื่อหวังจะซื้อเห็ดไปเพาะ แต่ละปีต้องจ่ายเงินรวม 1,550 บาท โดยมีผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับมูลค่ารวม 30,000 บาท (ได้โรงเพาะเห็ด 1โรง/คน และก้อนเชื้อเห็ด 2,000 ก้อน/คน) คิดเป็นผลตอบแทน 1,935.4% ต่อปี แต่เมื่อมีคนมาสมัครจำนวนมากขึ้น กลับมีการเสนอโครงการอื่นๆ แทน

    - กรณี ไนซ์ เดย์ ทราเวล จากข้อมูลพบว่า มีการหลวงลวงผ่านแอปพลิเคชันแชท โดยชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนธุรกิจของบริษัท เช่น การขายส่งน้ำผลไม้ จัดหาที่พักให้นักท่องเที่ยว ฯลฯ โดยเสนอผลตอบแทนสูงถึง 240% ต่อปีของเงินที่ลงทุน แต่ธุรกิจเหล่านี้ไม่มีการดำเนินการจริง จึงเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน

    - กรณี ปั๊มน้ำมัน สตาร์ โบรกเกอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) ที่ชักชวนให้สมัครสมาชิกและลงทุนในธุรกิจปั๊มน้ำมัน โดยจะให้ส่วนลดและผลตอบแทนเป็นค่าแนะนำสมาชิก แต่ท้ายที่สุดกลับไม่จ่ายผลประโยชน์ตามที่ตกลงกันไว้

    ดังนั้น เมื่อแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานทางการเงิน และส่วนงานที่ดูแลอาชญากรรมต่างให้ความสนใจ และเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยังเคยทำการวิจัยโดยสรุปข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า

    1. 85% ของผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ ‘รู้หรือควรรู้อยู่แล้ว’ ว่าเป็นลงทุนแชร์ลูกโซ่ แต่ยังลงทุนเพราะผลตอบแทนสูงที่คาดว่าจะได้รับสูงมาก มีเพียง 15% เท่านั้น ที่ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าได้นำเงินไปลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่

    2. 65% ของผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ โอนเงินเข้าบัญชีชื่อบริษัท และ DSI ยังระบุอีกว่า แม้บริษัทจะจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกหลอกลวงจากแชร์ลูกโซ่

    3. อาจมีผู้เสียหายเพียง 1 ใน 5 ที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะกลัวเสียชื่อเสียง ฯลฯ

    4. 54% ของผู้ที่เสียหายคดีแชร์ลูกโซ่ได้รับการชักชวนให้ลงทุนและตัดสินใจที่จะลงทุนหลังดูผ่านสื่อจากทาง Social Media และซึ่งถือว่ามากกว่าช่องทางอื่นๆ

    5. 68% ของผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่เชื่อและตัดสินใจที่จะลงทุนแม้จะยังไม่เคยพบหน้าผู้ที่ชักชวนแบบตัวเป็นๆ ต่อหน้า

    6. 65% ของการสื่อสารระหว่างผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ มักสื่อสารกับธุรกิจดังกล่าวผ่านช่องทางสื่อโซเชียล แม้จะเป็นช่องทางที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง แต่กลับมีคนเชื่อและตัดสินใจลงทุนกับคนที่ตนเองก็ไม่รู้จัก ไม่เคยเจอตัวจริง เช่นกัน

    7. 93% ของผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ ระบุว่าเชื่อใจและมั่นใจ โดยโอนเงินไปลงทุนกับธุรกิจที่ตนไม่เคยเดินทางไปยังสถานที่ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน

    8. ผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่กว่า 92% ระบุว่า หากช่องทางการสื่อสารของบริษัทต้องสงสัยฯ ทางโซเชียล แอปพลิเคชัน เพจ และโทรศัพท์ถูกระงับหรือปิดลง ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร

    ทั้งหมดนี้เป็นผลเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ DSI เปิดเผยไว้ ซึ่งตอกย้ำว่าปัจจุบันแชร์ลูกโซ่ยังพัฒนาไปทั้งในรูปแบบออนไลน์ และอาจสร้างความเสียหายในวงกว้างรวมถึงอาจมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ 

    อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าเข้าข่ายถูกหลอกหรือเป็นผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ ควรตรวจสอบบริษัทให้ชัดเจน เช่น กรณีที่เกี่ยวกับธุรกิจขายตรง ติดต่อที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ. โทร. 1166) หรือตรวจสอบการจดทะเบียนหรืองบการเงินของบริษัทที่ชักชวนให้ร่วมลงทุนได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (โทร. 1570) หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. โทร. 1207)

    ส่วนกรณีที่ได้รับความเสียหายจากแชร์ลูกโซ่ จำเป็นต้องรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่มี เช่น สัญญา หลักฐานการโอนเงิน ที่ตั้ง/เบอร์โทรสำนักงาน รูปถ่าย และเข้าขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ กระทรวงการคลัง (โทร. 1359) หรือแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI โทร. 1202)

    สุดท้ายนี้ กรณีคดีแชร์ลูกโซ่ การฟอกเงิน ไปจนถึงการฉ้อโกงประชาชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจมีอีกหลายเคสที่ผู้เสียหายมองว่าการตรวจสอบทำได้ยากจนตกเป็นผู้เสียหาย ไปจนถึงเมื่อเสียทรัพย์แล้ว แต่การแจ้งเรื่องเพื่อเอาผิดยังยากและอาจช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจทำให้ผู้กระทำผิดอาศัยช่องโหว่เหล่านี้ในการกระทำผิดซ้ำ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องเข้าให้ความรู้เชิงรุก หรือ ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปิดช่องโหว่ที่ผู้กระทำผิดใช้ในการการเอารัดเอาเปรียบประชาชน รวมถึงปรับปรุงในทุกด้านเพื่อให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงกระบวนทางกฎหมายได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงมากกว่าปัจจุบัน



ที่มาข้อมูล: DSI, พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง, ประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 343), สำนักงานกิจการยุติธรรม



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รัฐอัดฉีดเงินระยะสั้นอาจมีผลแค่ ‘ชั่วคราว’ แม้ GDP ไทยอาจโตขึ้นใน 1-2 ปี แต่ระยะยาวเสี่ยงโตต่ำ 2.5%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine