ถ้าถามถึงโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ Digital Wallet หลายคนคงนึกตอนที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงและประกาศอย่างชัดเจนว่า ‘ประชาชนทุกคน’ (อายุ 16 ปีขึ้นไป) จะได้สิทธิ์นี้เพื่อกระจายและกระตุ้นเศรษฐกิจทุกจุด แต่ผ่านมาแล้ว 10 เดือน โครงการนี้เปลี่ยนไปมากแค่ไหน และมีอะไรที่ชัดเจนแล้วบ้าง
เกือบ 10 เดือน Digital Wallet เปลี่ยนไปแค่ไหน
- เลื่อนวันเริ่มใช้จ่าย Digital Wallet
แต่จนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วเกือบ 10 เดือนจากจุดเริ่มต้นการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อเดือน ต.ค. 66 ทั้งเงื่อนไข รายละเอียด และวันเริ่มแจกจ่าย ยังมีหลายส่วนที่ไม่ชัดเจน จากที่เคยระบุว่าเริ่มจ่ายเงินภายใน 1 ก.พ. 67 ก็ขยับมาหลายครั้ง ปัจจุบันเหลือแค่คำว่า ‘จะทันภายในไตรมาส 4 ปีนี้’
นอกจากนี้ อาจเรียกว่า ติดขัดในหลายด้าน เพราะด้วยงบประมาณก้อนมหึมากว่า 500,000 ล้านบาท และเพดานหนี้สาธารณะที่อยู่สูงของไทยก็ทำให้เกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่า การแจกเงินใช้ระยะสั้นนี้จะ ‘คุ้มกับผลกระทบระยะยาว’ หรือไม่ และจะต้องกู้ หรือใช้เงินจากแหล่งใดบ้าง
- หั่นวงเงินและปรับสูตรแหล่งเงิน
กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ว่าจะ ‘ปรับ-เปลี่ยน-ปรุง’ สูตรหรือโครงสร้างแหล่งเงินของโครงการนี้แบบไหนเพื่อให้เพียงพอ ช่วงแรกเลยมีทั้งสูตรใช้เงินบางส่วนจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ล่าสุดได้ตัดออกไปแล้ว (รายละเอียดโครงสร้างแหล่งเงินล่าสุดจะอยู่ในหัวข้อถัดๆ ไป) แน่นอนว่าแหล่งเงินหลักยังเป็นงบประมาณปี 2567 และ ปี 2568 แต่ยังมาพร้อมการตั้งคำถามของหลายฝ่ายว่า เมื่อโครงการเริ่มช้ากว่าสิ้นเดือน ก.ย. ที่เป็นสิ้นปีงบประมาณ 67 จะดึงงบฯ มาใช้อย่างไร
แน่นอนว่าตอนนี้ วงเงินโครงการ Digital Wallet ได้ปรับลดลงมาเหลือ 450,000 ล้านบาทแล้ว โดยรัฐบาลอ้างถึงข้อมูลในอดีตว่า มาตรการแจกเงินต่างๆ ล้วนมีคนใช้สิทธิไม่เกินกว่า 80% จึงกลายเป็นแผนใหม่ที่ประมาณการว่า Digital Wallet จะมีผู้ใช้งาน 45 ล้านคน โดยระบุว่า ถ้ามีประชาชนได้รับสิทธิเกิน 45 ล้านคนก็ได้สิทธิเช่นกัน แต่หากได้สิทธิจริงจะมีขั้นตอนหรือใช้สิทธิ์อย่างไรยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
- จาก ‘ให้ทุกคน’ สู่ประมาณการผู้ใช้สิทธิเหลือ 45 ล้านคน
นอกจากนี้ เงื่อนไขหลักที่เปลี่ยนไปจากตอนหาเสียงคือ ‘แจกทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป’ ซึ่งต้องใช้เงินมากกว่า 500,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการตัดทอนบางกลุ่มออกไป จนเกิดเงื่อนไขหลัก เช่น
1) ต้องมีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี (เดือนละ 70,000 บาท)
2) ไม่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท โดยตรวจสอบจาก ณ วันที่ 31 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา
โดยรัฐบาลบอกว่า คนกลุ่มนี้ให้ใช้สิทธิผ่าน มาตรการ Easy e-Receipt ที่ลดหย่อนภาษีไปแล้ว
ข้อสังเกตที่ยังไม่มีการอธิบายเพิ่มเติมจากรัฐบาลคือ เงื่อนไขไม่ได้รับสิทธิเพราะมีเงินฝากฯ เกิน 500,000 บาทต่อรายนี้ ไม่รวมถึงกลุ่มคนที่มีสลากออมทรัพย์ หรือ ทรัพย์สินในรูปแบบอื่นๆ ที่มีจำนวนเกิน 500,000 บาท สาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลกำหนดเฉพาะเงินฝาก (6 ประเภท) อาจเพราะมีข้อมูลเงินฝากในระบบที่สถาบันการเงินนำส่งอยู่แล้ว ซึ่งง่ายต่อการคัดครองของรัฐ แต่อาจเป็นช่องโหว่เมื่อคิดถึงจุดประสงค์ที่รัฐอยากจะตัดทอนผู้มีรายได้หรือทรัพย์สินสูงออกไป
นอกจากนี้ เคยมีนักข่าวสอบถามว่า หากเป็นผู้ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีฯ แม้จะมีรายได้เกิน 840,000 บาทต่อปี จะได้รับสิทธิ Digital Wallet หรือไม่นั้น คำตอบคือ ได้ เพราะไม่มีข้อมูล
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงการ Digital Wallet และหลังจากนี้อาจปรับเปลี่ยนอีก แต่ทุกฝ่ายหวังว่าจะชัดเจนในเร็ววัน
Digital Wallet จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน
เมื่อใช้งบประมาณหลักแสนล้านบาท จึงมีคำถามจากหลายฝ่ายว่าโครงการ Digital Wallet จะส่งผลให้ GDP ไทยขยายตัวได้มากแค่ไหน ทาง เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบไว้ว่าผลของโครงการ Digital Wallet ต่อ GDP ไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ เพราะผลของโครงการนี้ไม่สามารถอ้างอิงจากข้อมูลทางวิชาการ จากโครงการอื่นๆ ของภาครัฐในอดีตได้ เพราะมีรูปแบบต่างกัน (เดิมใส่เงินสดให้ประชาชนโดยตรง) แต่อันใหม่นี้กำหนดเงื่อนไขให้ใช้ในหมู่บ้าน และต้องมีการใช้ต่ออีกรอบก่อน ร้านค้าจึงจะสามารถขึ้นเงินได้
เผ่าภูมิ ยังกล่าวต่อว่า แต่ผลกระทบในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจจะประเมินจากตัวเลข 80-90% ของผู้มาใช้สิทธิ Digital Wallet โดยกระทรวงการคลังเคยประเมินผลโครงการนี้ต่อ GDP ไทยไว้ที่ 1.2-1.8% เป็นกรอบที่ปรับจาก Basecase มาสู่ตัวที่ใกล้ Digital Wallet จึงต้องดูเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติม โดยผลส่วนใหญ่จะเห็นในปี 2568 มากกว่าปีนี้
ขณะที่ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดว่า หาก Digital Wallet เริ่มให้ประชาชนใช้จ่ายภายในไตรมาส 4 ปี 67 จะช่วยหนุน GDP ไทยได้ราว 0.25% ซึ่งตัวเลขนี้คำนวนจากเม็ดเงินราว 2 แสนล้านบาท (เกือบกึ่งหนึ่งของโครงการทั้งหมด) และอาจเห็นผลจากโครงการในช่วงปี 2568
แม้จะเป็นโครงการเดียวกัน แต่ตัวเลขคาดการณ์ผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจไทยกลับแตกต่างกันมากขนาดนี้ อาจเพราะรายละเอียดโครงการที่จะเริ่มใช้เร็วๆ นี้ยังไม่ชัดเจนหรือไม่
งานแถลงใหญ่ 24 ก.ค. ที่เศรษฐาให้ทุกฝ่ายรอดูมีรายละเอียดอย่างไร
ช่วงต้นเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ออกมาอัพเดทความคืบหน้าโครงการ Digital Wallet แจ้งไว้ว่าให้รองานแถลงข่าวใหญ่ในวันที่ 24 ก.ค. นี้ ซึ่งเมื่อถึงวันงานมีการเปลี่ยนตัวผู้แถลงข่าวกลายเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่าง พิชัย ชุณหวชิร มานำทีมคลังแถลงข่าวแทน
ความคืบหน้าที่ต่างจากช่วงที่ผ่านมาคือ
1) ระบุ Timeline วันลงทะเบียนโครงการ Digital Wallet ได้แก่
- ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนตั้งแต่ 1 ส.ค. - 15 ก.ย. 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” บนมือถือ (ใช้เวลาราว 1 วันในการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ แต่ยังไม่รู้ผลการลงทะเบียน)
- ประชาชนทั่วไปที่ไม่มี Smartphone ลงทะเบียนตั้งแต่ 16 ก.ย. - 15 ต.ค. 2567 แต่ยังไม่ระบุว่าลงทะเบียนที่ไหน โดยจะแจ้งในงานแถลงข่าวฯ ครั้งที่ 2 (กลางเดือน ก.ย. 67)
- กลุ่มผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง จะมีการแจ้งเพิ่มเติมในอนาคต
ในส่วนของประชาชน แม้จะลงทะเบียนในช่วงใดแต่จะรู้ผลการลงทะเบียนวันที่ 22 ก.ย. 2567 พร้อมกัน ถ้าถูกปฏิเสธสิทธิ ระบบจะชี้แจงว่า เหตุผลใด และมีข้อแนะนำในการอุทธรณ์สิทธิ เช่น ผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืน (กรณีทุจริตจากมาตรการอื่นๆ ของรัฐ) จะไม่ได้รับสิทธิ เป็นต้น
- ด้านร้านค้า เบื้องต้นกำหนดวันลงทะเบียนตั้งแต่ 1 ต.ค. 2567 จะมีการแจ้งเพิ่มเติมทั้งคุณสมบัติ เงื่อนไขช่องทางและวิธีการลงทะเบียน
2) ย้ำว่าจะเริ่มใช้จ่ายในไตรมาส 4 ปี 67 นี้ แต่ยังระบุวันไม่ได้
- การใช้จ่ายระหว่าง ‘ประชาชน กับ ร้านค้าและร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก’ จะต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกับทะเบียนบ้านเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) โดยจะตรวจสอบจาก (1) ที่อยู่ของร้านค้าที่ลงทะเบียนไว้ (2) ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านที่ลงทะเบียนไว้ และ (3) ตอนใช้จ่ายพิกัดประชาชน-ร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน
- การใช้จ่ายระหว่าง ‘ร้านค้า กับ ร้านค้า’ สามารถซื้อได้จากร้านค้าทุกประเภททุกขนาด ซื้อจากต่างพื้นที่ได้ และไม่ต้องซื้อแบบ Face to Face
ทั้งนี้ สินค้าที่ไม่สามารถใช้ Digital Wallet จะเป็น Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร (กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาแก้ไขได้)
3) คาดว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการฯ รวม 2 ล้านร้าน เพิ่มขึ้นจากโครงการในอดีตต่างๆ มีร้านค้าเข้าร่วมสูงสุดราว 1.2 ล้านร้านค้า
ขณะที่คำถามที่เกี่ยวกับ แอปพลิเคชัน ทางรัฐ ที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการ Digital Wallet แทนแอปฯ เป๋าตังของธนาคากรุงไทย นั้น ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า จะมีการจัดซื้อจัดจ้างผู้พัฒนาแอปฯ อย่างไร ไม่มีข้อมูลว่า แอปฯ จะต้องมีขอบเขตในการรองรับธุรกรรมจำนวนมากของประชาชนได้อย่างไร
แหล่งเงินการทำโครงการ Digital Wallet
ล่าสุดในงานแถลงข่าววันที่ 24 ก.ค. 67 ระบุวงเงินรวมที่ 450,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1. การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 165,000 ล้านบาท มาจาก
- งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท
- ใช้การบริหารการคลัง และการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ในวงเงิน 43,000 ล้านบาท
2. การบริหารงบประมาณรายจ่ายปี 2568 วงเงิน 285,000 ล้านบาท มาจาก
- งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2568 ที่ตั้งไว้ราว 152,700 ล้านบาท
- ใช้การบริหารการคลัง และการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ในส่วนที่เหลือราว 132,300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในอีกหลายเงื่อนไข และรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน ทางกระทรวงการคลังระบุว่า เป็นแผนในการประชาสัมพันธ์ที่จะทยอยประกาศเงื่อนไข และวิธีต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ไม่มี Smartphone และผู้พิการ รวมถึงกลุ่มร้านค้า จะลงทะเบียนอย่างไร จะแจ้งในงานแถลงใหญ่ในครั้งที่ 2 และ 3 ถัดๆ ไป
ดังนั้น แม้อีกไม่กี่เดือนประชาชนอาจได้เริ่มใช้ Digital Wallet กันแล้ว แต่เมื่อเงื่อนไขยังอาจเปลี่ยนแปลงได้ แล้วประชาชน ร้านค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถเข้าถึง เข้าใจ รวมถึงใช้งานได้อย่างราบรื่นหรือไม่ ผลดีต่อเศรษฐกิจไทยจะสูงเท่ากับงบประมาณรัฐที่ใส่ลงไปหรือไม่ ทุกภาคส่วนยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
หมายเหตุ
คุณสมบัติประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ Digital Wallet ได้แก่
- ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- สัญชาติไทย
- มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
- ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท (จากข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท)
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘สภาพัฒน์’ เผยแม้ Digital wallet อาจมาทันปลายปี แต่ยังหั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือ 2 - 3%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine