‘ซิตี้แบงก์’ มองจีดีพีไทยปี 68 โต 3.2% ด้วยแรงหนุนจากการจ้างงาน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ - Forbes Thailand

‘ซิตี้แบงก์’ มองจีดีพีไทยปี 68 โต 3.2% ด้วยแรงหนุนจากการจ้างงาน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ซิตี้แบงก์ คาดจีดีพีปีประเทศไทย ปี 2568 โต 3.2% จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโตต่อเนื่องแม้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจน้อยกว่าคาดการณ์ ในขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา พร้อมกันนี้มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ไปจนถึงปี 2569


    นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เผยว่า ซิตี้แบงก์ คาดการณ์จีดีพีของประเทศไทยปี 2568 จะเติบโตที่ 3.2% เพิ่มจาก 2.7% ในปี 2567 โดยการบริโภคภาคเอกชน แม้จะเติบโตในอัตราชะลอลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และยอดขายรถยนต์ที่ซบเซา แต่ยังคงได้รับแรงหนุนจากการจ้างงานที่แข็งแกร่ง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ



    ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น จากการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เช่น การลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซนเตอร์ และการแปรรูปอาหาร ซึ่งประเทศไทยยังคงได้รับอานิสงส์จากจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ภาครัฐต้องมีการพัฒนาปัจจัยด้านอื่นๆ เพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขัน เช่น ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มกำลังการผลิต และพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศ

    ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ซิตี้แบงก์ได้ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2568 ลงมาที่ 39.8 ล้านคน หลังการท่องเที่ยวปีก่อนหน้าฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวอาจเพิ่มเป็น 1,298 เหรียญสหรัฐฯ (หรือราว 44,000 บาท) ทำให้คาดว่ารายได้การท่องเที่ยวไทยปีนี้จะอยู่ที่ราว 9.3% ของจีดีพี ส่วนภาคการส่งออกคาดว่าจะเติบโตลดลง อยู่ที่ประมาณ 3% จากสถานการณ์การค้าโลกชะลอตัวและความไม่แน่นอนในการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ



    นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลมีแผนกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยซิตี้แบงก์คาดว่าการเบิกจ่ายของภาครัฐในปีงบประมาณ 2568 จะเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณค้างจ่ายในปีงบประมาณ 2567 ขณะที่งบขาดดุลในปีงบประมาณ 2568 วางไว้ที่ -4.5% ของจีดีพี ซึ่งกว้างขึ้นเล็กน้อย เพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2, โครงการ Easy E-Receipt 2.0 และโครงการคุณสู้ เราช่วย ที่ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศช่วงครึ่งปีแรก

    สำหรับบัญชีเดินสะพัดปี 2568 ซิตี้แบงก์คาดการณ์ไว้ที่ 2.7% ของจีดีพี เพิ่มจาก 2.1% ของจีดีพี ในปี 2567 จากต้นทุนการนำเข้าน้ำมันลดลง และการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจะช่วยสนับสนุนค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง แม้จะต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน



    ด้านสถานการณ์เงินเฟ้อ มีการปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2568 อยู่ที่ 1.2% ส่วนหนึ่งมาจากอัตราเงินเฟ้อปี 2567 ต่ำกว่าที่คาด รวมถึงความเสี่ยงขาลงจากสินค้าคงทนที่นำเข้าจากจีน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% นอกจากนี้ รัฐบาลอาจใช้โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบลดลง เก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันเพิ่มเติมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเติมเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐ

    “ทั้งนี้ ตลอดปีนี้ไปจนถึงปี 2569 ธปท.มีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% และดำเนินนโยบายแบบเป็นกลาง เพื่อรักษาช่องว่างของการใช้นโยบาย ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ดี ซิตี้แบงก์คาดว่ามีโอกาส 40% ที่ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในครึ่งแรกของปี 2568 หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวตามคาดการณ์” นลิน กล่าวสรุป


ภาพ: ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เผยยอดขายปี 67 รวม 13,659 คัน เฉพาะแบรนด์มินิโตเพิ่ม 7.6%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine