ซิตี้แบงก์มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จีดีพีขยายตัว 3.6% เงินเฟ้อ 1.7% คาดแบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ถึงปี 2568 ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกสนใจตลาดหุ้นไทย หลังลงต่ำสุดในภูมิภาค มีโอกาสพลิกกลับแตะระดับ 1,527 จุดปีนี้ แนะธีมลงทุน REIT การแพทย์ความงาม และนิคมอุตสาหกรรม
ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย จัดงานประชุม “อัปเดตแนวโน้มเศรษฐกิจ พร้อมเจาะลึกเทรนด์การลงทุนในไทย ตลาดหุ้น และทิศทางเศรษฐกิจไทย ประจำปี 2567” โดยมีนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่สนใจตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมกว่า 120 รายเกินกว่าที่คาดหมายไว้ สะท้อนถึงความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้ปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยจะติดลบ 15% และในแง่เม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนจะหายไปกว่า 30% และต่างชาติยังคงขายสุทธิอย่างต่อเนื่องในปีนี้
โจฮันน่า ฉัว หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและตลาดเอเชียแปซิฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ตลาดเอเชียแปซิฟิกได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้
แต่ปีนี้คาดว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไปอย่างน้อย 100 bps (4 ครั้ง) ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและเอเชียแปซิฟิกแคบลง ทำให้มีเงินไหลลงทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะความต้องการสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่กลับมา รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน หลังจีดีพีขยายตัวได้ 5.2% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์
สำหรับปีนี้ ซิตี้แบงก์ คาดว่าจีดีพีของจีนจะขยายตัวได้ 4.6% ขณะที่อินเดีย ซึ่งจะปิดปีบัญชี 2566 ในเดือนมีนาคม 2567 ด้วยการเติบโตของจีดีพีที่ 7% และ 6.5% ในปีถัดไป ทั้งนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนมีผลต่อประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งไทยซึ่งซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.6% ไม่รวมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน
ท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทย
นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่าจีดีพี ประเทศไทยในปี 2567 จะเติบโตอยู่ที่ 3.6% โดยมีปัจจัยหลักจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางสู่ประเทศไทยราว 35.2 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 41 ล้านคนในปี 2568
ซึ่งตัวเลขการคาดการณ์ดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน พร้อมกันนี้มาตรการฟรีวีซ่าสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางจากประเทศรัสเซีย จีน อินเดีย และไต้หวัน จะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตให้ภาคการท่องเที่ยวได้
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นหลังการขึ้นค่าแรงและมาตรการทางการคลัง นอกจากนี้ ภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวอยู่ที่ 3.3% จากปีก่อนหน้าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้จะยังคงเผชิญความท้าทายจากสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่แผนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของรัฐบาลอาจส่งเสริมการเติบโตให้แก่ภาคส่วนดังกล่าวในอนาคต
อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ขณะที่ในระยะปานกลางรัฐบาลมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว โดยคาดว่าการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นหลังมีการประกาศใช้พ.ร.บ งบประมาณปี 2567 อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามข้อสรุปของการอนุมัติร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคิดเป็น 2.8% ของจีดีพี
“หากมาตรการดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่ารัฐบาลอาจมีมาตรการอื่นๆ ซึ่งอาจจะใช้งบที่ลดลงและมุ่งเน้นไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และด้วยการดำเนินมาตรการทางการคลังเชิงรุกดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้การลดระดับการขาดดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) กลับมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงก่อนช่วงโควิดที่ประมาณ 3.0% ของจีดีพี อาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีก 3-4 ปี” นลินกล่าว
สำหรับเทรนด์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่โดดเด่น ได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการขอสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนอีกด้วย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในระดับ 1-3% ของกรอบเป้าหมาย ที่ 1.7% ในปี 2567 และ 2.2% ในปี 2568 แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อหลายเดือนที่ผ่านมาออกมาต่ำกว่าคาด แต่ในปีนี้ยังคงมีความเสี่ยงขาขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก ผลของปรากฏการณ์เอลนีโญต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล
ทั้งนี้ ซิตี้แบงก์คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะรักษาดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% จนถึงปี 2568 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
หุ้นไทยลุ้นแตะระดับ 1,527 จุด
สิทธิโชค เตชะศิรินุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ซิตี้คอร์ป ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังเป็นที่สนใจจากนักลงทุนทั่วโลก สังเกตได้จากการประชุมวันนี้มีนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมฟังข้อมูลเกินความคาดหมาย และส่วนตัวมีมุมมองว่าในระยะ 6 - 12 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นไทยจะพลิกกลับมาฟื้นตัว โดยซิตี้แบงก์คาดดัชนีหุ้นไทยในปีนี้จะแตะระดับ 1,527 จุด หลังจากปีที่ผ่านมา แย่ที่สุดในภูมิภาคโดยติดลบ 15% ขณะที่ในแง่เม็ดเงินลดลงประมาณ 30%
“ปัจจัยที่มองว่าตลาดหุ้นไทยจะมี Surprise Upside ไม่ยาก เพราะปีที่ผ่านมา เราแย่ที่สุดแล้ว ขณะที่มูลค่าก็ต่ำมาก Underperform เมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค ถือว่าลดลงไปต่ำสุดในรอบ 10 ปี ด้วยความกลัวของนักลงทุน แต่ถ้าดูจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่อย่างที่คิด ดัชนีทางเศรษฐกิจดีขึ้นทุกตัว ทั้งตัวเลขนักท่องเที่ยว เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว” สิทธิโชคระบุ
สำหรับธีมการลงทุนในปีนี้ ที่น่าสนใจ คือ การลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่ให้ผลตอบแทนสูงมากถึง 12-15% นอกจากนี้มีกลุ่มโรงพยาบาลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ด้านความงาม ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งไทยยังได้ประโยชน์จากการเป็นการย้ายฐานผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของโลก อย่างการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน และอุตสาหกรรมอเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Tesla หวังกระตุ้นยอดขายเพิ่ม ปรับราคาขายรถรุ่น Model Y ในยุโรปให้ถูกลงหลังจากลดราคาในจีนไปก่อนหน้า
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine