ในช่วงหลายปีนี้ ความเสียหายจากมิจฉาชีพเพิ่มขึ้นมหาศาล ที่สำคัญยังพัฒนาการหลอกลวงหลายรูปแบบทั้ง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ข่มขู่ หลอกให้รักแล้วชักชวนลงทุน หลอกลวงออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งหลอกล่อผู้เสียหายให้โอนเงินผ่านบัญชีม้าไปเป็นทอดๆ จนติดตามได้ยาก
เพียงช่วง 2 ปีกว่านี้ ในประเทศไทยพบว่า มีมูลค่าความเสียหายกว่า 63,000 ล้านบาท แม้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ จะพยายามแก้ปัญหาแต่เรายังเห็นข่าวคราวผู้เสียหายหลักแสนไปจนถึงหลักสิบล้านบาท จึงทำให้ ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้าในกลางเดือน มิ.ย. 67 นี้
ไทยมีคดีหลอกลวง - บัญชีม้า มากแค่ไหน
ในแต่ละวันคนไทยอาจต้องรับสายมิจฉาชีพมากกว่าข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีด้วยซ้ำ สะท้อนได้จากข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ช่วง 1 มี.ค. 2565 - 31 พ.ค. 2567 พบว่า จำนวนคดีหลอกลวงในไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังสะสมอยู่มากกว่า 5 แสนคดีไปแล้ว และมีหลากหลายรูปแบบ แม้ส่วนใหญ่กว่า 42% จะเป็นการหลอกให้ซื้อสินค้า รองลงมาคือ หลอกโอนเงินในสัดส่วน 20% ขณะที่การหลอกลงทุนแม้จะมีสัดส่วน 8% ของคดีทั้งหมด แต่กลับมีสัดส่วนมูลค่าความเสียหายมากที่สุด (36% จาก 63,000 ล้านบาท)
แน่นอนว่า เครื่องมือหลักที่มิจฉาชีพใช้อย่าง บัญชีม้า หรือ บัญชีที่คนร้ายใช้รับ - ถ่ายโอนเงินจากการกระทำผิด ยิ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งจัดการทาง ธปท. เล่าว่าช่วง 1 ปี (มี.ค. 66 - เม.ย. 67) ได้อายัดบัญชีไปเกือบ 200,000 บัญชี แต่ก็ยอมรับว่ายังจัดการบัญชีม้าได้น้อย และยังตามหลังมิจฉาชีพอยู่
แบงก์ชาติยกระดับมาตรการ ‘ล้างบาง’ บัญชีม้า
ดังนั้น ล่าสุด (13 มิ.ย.) แบงก์ชาติจึงประกาศมาตรการใหม่เพื่อกวาดล้างบัญชีม้าอีกครั้ง รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าว่า ที่ผ่านมาแม้จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน แต่การจัดการบัญชีม้ายังทำได้จำกัด จึงต้องยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มงวดขึ้น
ในรายละเอียดของ 2 มาตรการใหม่นี้ ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ชี้แจงว่า การยกระดับจัดการบัญชีม้าได้ส่งหนังสือเวียนให้ธนาคารแล้ว โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1: การยกระดับการจัดการบัญชีม้า โดยปรับจากการดำเนินการระดับ “บัญชี” เป็นระดับ “บุคคล” เพื่อจัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น และจะครอบคลุมบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่ให้เข้มข้นขึ้น ในกลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 ข้อ คือ
1) การกวาดล้างบัญชีม้าในระบบ ด้วยการจัดการทุกบัญชีในทุกธนาคารของเจ้าของบัญชีต้องสงสัยโดยธนาคารจะใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่ง ได้แก่
- สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือ ม้าดำ ซึ่งจะประกาศรายชื่อผู้มีความเสี่ยงสูง ปัจจุบันประกาศทุก 2 สัปดาห์ แต่คาดว่าสิ้นเดือน ก.ค. 67 จะประกาศทุกสัปดาห์ 4,000 รายชื่อ
- ระบบข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) หรือ ม้าเทา ซึ่งเป็นรายชื่อผู้ที่ถูกแจ้งความ หรืออยู่ในเส้นทางเงินทุจริต
- บัญชีที่ธนาคารตรวจว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้า-ออกมูลค่าน้อยในเวลาสั้น ๆ หลายครั้งก่อนมีเงินโอนเข้า - ออกมูลค่าสูง หรือ ม้าน้ำตาล ซึ่งจะทำให้ทุกธนาคารมีมาตรฐานเดียวกัน
“ที่ผ่านมา เราจะจัดการบัญชีม้าเป็นบัญชีๆ ไป พอรู้ว่าเป็นบัญชีของธนาคารนี้ก็ระงับแค่ของธนาคารนี้ ต่อไปนี้จะระงับเป็นรายชื่อบุคคล เพราะไม่ว่า ม้า จะเปิดปัญชีที่ธนาคารไหนก็ตาม ถ้า Identify (ระบุตัวตน) ถ้าอยู่ในเส้นทางการเงิน ทุกบัญชีของคนชื่อๆ นี้ที่ม้าตัวนี้จะถูก Freeze หมดจะถูกอายัด ระงับหมดทั้งแถว เพราะฉะนั้นก็จะกันไว้ได้ แล้วเราก็จะมีกระบวนการที่ชี้ได้ว่าใครจะเป็นความเสี่ยงม้า ที่รวดเร็วและครอบคุลมขึ้นด้วย ” ดารณี กล่าว
2) การเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีพฤติกรรมผิดปกติเพื่อป้องกันการเกิดบัญชีม้าใหม่ โดยธนาคารจะใช้ฐานข้อมูล 3 แหล่งข้างต้น เช่น ม้าดำ อาจจะพิจารณาไม่เปิดบัญชีใหม่ หรือ กลุ่มเสี่ยงเปิดบัญชีใหม่ได้ แต่ต้องไปพิสูจน์ตัวตนที่สาขา เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่ 2: ให้ธนาคารเพิ่มผลิตภัณฑ์หรือบริการช่วยดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น คาดว่าจะเริ่มเห็นการให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567 ตัวอย่างเช่น
- การล็อควงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ อาจต้องปลดล็อคฯ ได้ยากขึ้น
- มีตัวเลือกในการปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท
- โอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorisation)
- การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
แบงก์ชาติคาดหวังผลลัพธ์แบบไหน
ในภาพรวมแบงก์ชาติมองว่าแต่ละธนาคารไม่ควรมีบัญชีม้า ซึ่งการยกระดับมาตรการครั้งนี้จะช่วยจำกัดเส้นทางเดินเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ และเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น
ธปท. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมติดตามประเมินผลของมาตรการ และปรับเปลี่ยนมาตรการให้เท่าทันกับภัยรูปแบบใหม่ๆ อย่างช่วงที่ผ่านมามีการออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดโทษเอาผิดกับบัญชีม้าให้ชัดเจนขึ้น มีการตั้ง AOC สายด่วน 1441 (ศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์) ทั้งหมดนี้เพื่อรับมือภัยทางการเงินที่ยังเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังพร้อมให้ความรู้ประชาชนเพื่อให้เท่ากัน กลโกงของมิจฉาชีพที่อาจพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แบงก์ชาติสั่ง UOB เร่งแก้ปัญหา กรณีประชาชนเจอผลกระทบหลังถ่ายโอนข้อมูลจากซิตี้แบงก์
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine