แบงก์ชาติเผยมาตรการช่วย SME “สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้” อนุมัติวงเงินแล้วกว่า 347,739 ล้านบาท - Forbes Thailand

แบงก์ชาติเผยมาตรการช่วย SME “สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้” อนุมัติวงเงินแล้วกว่า 347,739 ล้านบาท

ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ SME โดยมุ่งเน้นด้านสภาพคล่อง และมีการออกสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่ล่าสุดได้ปิดโครงการในวันที่ 9 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา พบว่ามีลูกหนี้รวมทั้งสิ้น 67,725 ราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 347,739 ล้านบาท


    นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (รวมสินเชื่อเพื่อการปรับตัว) และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 และได้ขยายระยะเวลาเฉพาะส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (โดยเพิ่มส่วนของสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ในการปรับปรุง พัฒนา และเสริมศักยภาพธุรกิจ) ออกไปอีก 1 ปี ซึ่งครบกำหนดแล้วในวันที่ 9 เม.ย. 2567

    ทั้งนี้ ภาพรวมทั้ง 2 โครงการได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้กับลูกหนี้รวม 67,725 ราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 347,739 ล้านบาท คิดเป็น 99.4% ของวงเงินรวมที่ตั้งไว้ที่ 350,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. สินเชื่อฟื้นฟู (รวมสินเชื่อเพื่อการปรับตัว) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจจำนวน 67,225 ราย รวมทั้งสิ้น 273,625 ล้านบาท โดยมีวงเงินอนุมัติเฉลี่ยต่อราย 4 ล้านบาท ซึ่งสินเชื่อกระจายตัวดีทั้งในมิติของขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค โดยส่วนใหญ่กว่า 72% เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมกับสถาบันการเงินต่ำกว่า 50 ล้านบาท และอีก 69% อยู่ในภูมิภาคต่างๆ นอกกรุงเทพและปริมณฑล
    ในจำนวนนี้เป็นการให้สินเชื่อเพื่อการปรับตัว 11,162 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบธุรกิจ 693 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ยต่อราย 16 ล้านบาท โดย 1) วงเงินส่วนใหญ่กว่า 65% เป็นสินเชื่อเพื่อการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม (Green) เช่น การลงทุนระบบประหยัดพลังงาน 2) ราว 18% เป็นด้านนวัตกรรม (Innovation) และ 3) อีก 17% เป็นด้านดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital technology)

    2. สินเชื่อโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ 500 ราย วงเงินรวม 74,114 ล้านบาท จากวงเงินที่ตั้งไว้ 100,000 ล้านบาท โดยวงเงินส่วนที่เหลือได้โอนไปเป็นวงเงินเพิ่มให้สินเชื่อฟื้นฟูตามข้อ 1 ข้างต้น

    ทั้งนี้ ภายใต้เศรษฐกิจปัจจุบันที่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง ธปท. จะยังมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป


Photo by Geoff Greenwood on Unsplash


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คลังออก 5 มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ชู ‘ลดค่าโอนฯ - ค่าจดจำนอง’ เหลือ 0.1% ขยายสิทธิ์ให้กลุ่มราคาไม่เกิน 7 ล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine