ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.9% ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงทั้งปัจจัยในและต่างประเทศ เร่งจับตาผลกระทบจากนโยบาย Donald Trump ที่จะออกมาเพิ่มเติม และติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมของไทยที่ขาดดุลกับจีนมากขึ้น ครึ่งปีหลังอาจเจอสินค้าจีนทะลักหนัก และต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์หนี้ในไทย
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในไตรมาส 4 ปี 2567 ที่ผ่านมามองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยหรือ GDP อาจเห็นตัวเลขเกิน 3% (ทั้งปี 67 ที่ 2.7%) ส่วนปี 2568 นี้ คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.9% โดยมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนภาครัฐ การส่งออก การท่องเที่ยว (คาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยว 39.5 ล้านคน) แม้ว่าการบริโภคเอกชนจะชะลอลงจากที่เติบโตสูงในช่วงก่อนหน้า และภาคการผลิตยังคงได้รับผลกระทบมากทำให้การฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน
ดังนั้น ในภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกับแนวโน้มในระยะปานกลาง แต่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จากนโยบายของ Donald Trump เช่น มาตรการกีดกันทางการค้า มาตรการทางภาษีที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งส่งผลให้ในแง่ของการดำเนินนโยบายทางการเงินต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่มีความหลากหลายได้อย่างเหมาะสม และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการรักษา policy buffer
อย่างไรก็ตาม ปี 2568 นี้ ทางธปท. ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนะครับจะอยู่ที่ 1.1% โดยยังมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมายโดยทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับขอบล่าง
ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ปี 2568 แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า มีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไม่ว่าจะมาตรการเงินโอนสู่ประชาชน ในเฟส 2 เฟส 3 รวมถึงมาตรการ Easy e-receipt ซึ่งยังต้องติดตามว่ามีผลต่อเศรษฐกิจจะมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกัน ไทยจะเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนยังสูงขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะจากแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน ยุโรป ฯลฯ รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งชึ่งเมื่อความไม่แน่นอนอาจสูงขึ้นทำให้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วรวมถึงครึ่งปีแรกของปีนี้ เห็นการเร่งส่งออกสินค้ามากขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมผลกระทบจากนโยบายของ Donald Trump ต่อเศรษฐกิจไทยจะมี 3 ด้านหลัก ได้แก่
1. ด้านการค้า โดยไทยอาจส่งออกไปจีนได้น้อยลง และสินค้าไทยต้องแข่งขับกับจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันไทยอาจส่งออไปสหรัฐฯ แทนจีนได้มากขึ้นด้วย
2. ด้านการลงทุน อาจเห็นการย้านฐานการผลิตออกจากจีนมาไทย และนักลงทุนอาจชะลอการตัดสินใจจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
3. ความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน ปัจจุบันไทยมีความเชื่อมโยงกับจีน ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนชะลอลงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกแลการท่องเที่ยวของไทย
นอกจากนี้ ไทยยังมีปมปัญหาเดิมคือ ไทยขาดดุลกับจีนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ และสินค้าเพื่อการบริโภคโดยเห็นได้ชัดในกลุ่มสินค้าที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งหากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ เริ่มเดินหน้าอาจทำให้การทะลักของสินค้าจีนเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันยังฟื้นตัวช้าอยู่แล้ว
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีการผลิตหดตัว และพบว่ามีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนเร่งตัวขึ้นมาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยานยนต์, โลหะขั้นมูลฐาน, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในด้านภาวะการเงินโดยรวมยังหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย โดยสินเชื่อที่ชะลอลงเป็นผลจาก 1) ความต้องการสินเชื่อที่ลดลง เช่นกลุ่มธุรกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เช่น โรงแรมและร้านอาหาร ฯลฯ มีรายได้ที่ดีขึ้นจึงมีความต้องการขอสินเชื่อลดลงและบางส่วนมีการคืนหนี้กับสถาบันการเงิน 2) ความเสี่ยงด้านเครดิตอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ซึ่งธปท. ต้องติดตามว่าจะสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากน้อยเพียงใด 3) การชำระหนี้ที่กู้ยืมไปในช่วง COVID-19
อย่างไรก็ตาม เมื่อสินเชื่อเติบโตน้อยลงและน้อยกว่า GD ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับตัวลดลงมาสู่ 89% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (89.8%) ซึ่งสาเหตุหลักที่หนี้ลดลงมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ปรับลดลง
ภาพ: BOT, energepic.com จาก Pexels
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCB EIC ประเมิน ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ คลี่คลายช้า แนะทางออกแก้อย่างไรให้ยั่งยืน และตรงกลุ่ม
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine