ธปท. ส่งหนังสือกำชับ ‘ธนาคาร-Non bank’ เร่งพิจารณาความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เจอนำ้ท่วมในภาคใต้ - Forbes Thailand

ธปท. ส่งหนังสือกำชับ ‘ธนาคาร-Non bank’ เร่งพิจารณาความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เจอนำ้ท่วมในภาคใต้

ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สงขลา, กระบี่, ชุมพร, พัทลุง, ปัตตานี, ยะลา, และนราธิวาส ล่าสุด ทางธปท. ส่งหนังสือถือสถาบันการเงินและ Non bank ให้เร่งพิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนำ้ท่วมภาคใต้ เผยแนวทางช่วยเหลือเบื้องต้น ลดผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิต, เพิ่มวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลฯ, เพิ่มสภาพคล่อง ฯลฯ ด้านแบงก์รัฐ ธนาคารออมสินออกมาตรการแล้ว ให้พักต้น-เว้นคิดดอกเบี้ย ถึงมีนาคม 68 ปล่อยกู้ฉุกเฉินดอกเบี้ย 0% 3 เดือน


    นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นในเขตภาคใต้ ทำให้ประชาชนและลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนนั้น ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงิน พิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยเร่งด่วน

    ทั้งนี้ ธปท. ได้มีแนวทางให้เจ้าหนี้สามารถปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต การเพิ่มวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือเพื่อให้ประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อได้ โดยในระหว่างการให้ความช่วยเหลือ ธปท. ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์และกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับสถานการณ์สาธารณภัยไว้แล้ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยจะได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้

    อย่างไรก็ตาม ในด้านแบงก์รัฐ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (GSB) เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ออกชุดมาตรการพักหนี้และสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนจัดเตรียมเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลด ที่ธนาคารพร้อมให้บริการอีกหลากหลายมาตรการ ได้แก่

    - การให้ลูกหนี้ธนาคารออมสินในพื้นที่ประสบภัยฯ พักชำระเงินต้น และธนาคารไม่คิดดอกเบี้ย จนถึงเดือน มีนาคม 2568 ครอบคลุมลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบุคคล และ SMEs ที่เป็นลูกหนี้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท (ยกเว้นสินเชื่อชีวิตสุขสันต์และสินเชื่อตามนโยบายรัฐ : PSA) จำนวนกว่า 37,000 บัญชี เป็นเงินต้นรวมกว่า 13,600 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินที่ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยกว่า 270 ล้านบาท โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยตามประกาศฯ ในปัจจุบัน สามารถลงทะเบียนเข้ามาตรการฯ ได้ที่แอปพลิเคชัน MyMo ได้ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2567 

    ทั้งนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการฯ ให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ตามสัญญาเดิมตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีมาตรการปรับลดอัตราการชำระขั้นต่ำของลูกค้าบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เป็น 3% ของยอดเรียกเก็บ (ขั้นต่ำ 300 บาท) ถึงเดือนมีนาคม 2568 เช่นเดียวกัน

    ด้านมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเร่งด่วน ได้แก่

    - สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย ไม่ต้องมีหลักประกันและไม่มีผู้ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ต่อเดือน ผ่อนนานสูงสุด 15 เดือน สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย แบบมีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ต่อเดือน ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน ปลอดชำระคืน 3 งวดแรก

    - มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ได้แก่ สินเชื่อต่อเติมซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ประสบภัยพิบัติ ดอกเบี้ยคงที่ 3 เดือนแรก 0% ต่อปี ปลอดชำระ 6 งวดแรก สำหรับลูกค้าเดิม วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย แบบใช้หลักประกันเดิม, สำหรับลูกค้าใหม่ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย แบบไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) 

    - โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เพื่อฟื้นฟูกิจการจากเหตุอุทกภัย ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย สามารถยื่นกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 ธันวาคม 2567 นี้

    ล่าสุด (3 ธ.ค.) ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ โดยให้ลูกค้ายื่นขอพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย เพิ่มวงเงินพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่อง ครอบคลุมลูกค้า 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย ลูกค้าบุคคล ลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

    - ลูกค้าบุคคล ประกอบด้วย สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ โดยในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารมอบความช่วยเหลือ ได้แก่ 1) พักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน 2) ลดดอกเบี้ยสูงสุด 100% ของอัตราดอกเบี้ยเดิมภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน 3) ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี สำหรับสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารมอบความช่วยเหลือ ได้แก่ 1)พักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน 2) ขยายเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 3 เดือน

    - ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการ (SSME) มี 3 มาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ 1) พักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน 2) ลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 100% ของอัตราดอกเบี้ยเดิมภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน 3) ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี

    - ลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ออก 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1) การพักชำระเงินต้น สูงสุดนาน 6 เดือน 2) การพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 3 เดือน 3) เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราวสูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม และไม่เกิน 10 ล้านบาท และ 4) วงเงินกู้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซมหรือซื้อทดแทนทรัพย์สินของกิจการที่เสียหายสูงสุด 20% ของวงเงินรวมเดิม สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท

    - ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าให้ติดต่อประสานงานและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งจะพิจารณาการช่วยเหลือตามความเหมาะสมทางธุรกิจของแต่ละราย พร้อมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานด้านธุรกิจต่างๆ ให้แก่ลูกค้าธุรกิจทุกรายที่ได้รับผลกระทบ

    ลูกค้าผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 มีนาคม 2568



ภาพ: ธปท.



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กสิกรไทยเผยธุรกิจเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ไทยปี 68 แข่งแรง! ผลจาก ‘สินค้านอกตีตลาด-กำลังซื้อซบเซา-คู่แข่งเพียบ’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine