แบงก์ชาติ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. 67 ดีขึ้นจาก มี.ค. แต่ในภาพรวมยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง หวัง GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ดีเกินคาด จับตาปัจจัยภายนอกที่อาจกระทบส่งออก เผยหาก Digital wallet ยังไม่ชัดเจนจะยังไม่นำมารวมในประมาณการณ์ GDP ปี 67
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เดือน เม.ย. 67 เศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากภาคบริการที่ขยายตัว และภาคท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งรายรับ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
“นักท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้น 4.4% จากชาวมุสลิมที่เดินทางมาหลังจากเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง มาจากมาเลเซีย ตะวันออกกลาง รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนที่เดือนมี.ค. ปรับลดลงก็กลับมาในเดือน เม.ย. นี้ และคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจในปีนี้” สักกะภพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า เดือน พ.ค. คาดว่ายังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว แต่การฟื้นตัวในภาคการส่งออกยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึง ในภาพรวมมองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 67 จะดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ GDP ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ (เช่น ความชัดเจนของ Digital wallet) รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจในเดือน เม.ย. 67 ได้แก่ อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงในเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว ด้านหมวดสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้น ตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับหมวดสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการส่งมอบรถยนต์ที่สั่งจองในงานจัดแสดงรถยนต์ (Motor Show) อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลในประเด็นเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศ
ขณะที่การส่งออกไทย ปรับตัวดีขึ้น 5.8%YoY ตามที่ ธปท. เคยคาดการณ์ไว้ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และ สินค้าเกษตร ตามการส่งออกทุเรียนไปจีน แต่บางหมวดยังปรับลดลง เช่น หมวดปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ช่วงหลังยังต้องจับตามองว่า การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะส่งผลต่อการส่งออกไทยมากเพียงใด
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐเดือน เม.ย. 67 ยังคงหดตัวจากรายจ่ายของรัฐบาลกลางตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า (-45.1%YoY) ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูง (+102.5%) ตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกที่ 0.19%YoY จากหมวดอาหารสดตามราคาผักเพิ่มขึ้น เพราะอากาศที่ร้อนทำให้ผลผลิตลดลง ขณะที่เนื้อสุกรที่อุปทานลดลง และจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลจากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่าเดือนก่อนที่ระดับ 0.37%YoY คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนหน้าคาดว่าจะเข้าใกล้กรอบล่างของเงินเฟ้อนโยบาย
ส่วนตลาดแรงงานปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากการจ้างงานในภาคบริการ แต่ยังเห็นการขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรม เช่น ภาคการผลิต เหล็ก ฯลฯ อาจสะท้อนถึงธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ที่อาจชะลอลง
ขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสมดุลโดยดุลการค้าเกินดุล ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง โดยการระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจพลังงานเป็นสำคัญ
ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค การเงิน อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยอ่อนค่าลงที่ 36.77 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เนื่องจากปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งตลาดเลื่อนการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกไป และมีความกังวลต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่อาจยกระดับความรุนแรง
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 15 เศรษฐีนีคนดังแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2024
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine