แบงก์กรุงเทพประเมินเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 3% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสงคราม-หนี้ครัวเรือนสูง - Forbes Thailand

แบงก์กรุงเทพประเมินเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 3% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสงคราม-หนี้ครัวเรือนสูง

แบงก์กรุงเทพเผยเศรษฐกิจไทยปี 68 น่าจะเติบโต 3% แต่ต้องติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศ สงคราม-เศรษฐกิจจีนชะลอ-ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในส่วนของไทยยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง แต่มั่นใจสินเชื่อปี 67 ยังเติบโต เพราะมีพอร์ตจากต่างประเทศมาช่วยหนุน


    ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เปิดเผยว่า ปี 2567 นี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเพราะผ่านพ้นช่วงที่แย่มาแล้ว และคาดว่าปี 2568 เศรษฐกิจจะขยายตัวราว 3% โดยต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศ ได้แก่

    1) ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม และความตึงเครียดในหลายพื้นที่ เช่น รัสเซีย-ยูเครน หากมีการลากยาวและขยายพื้นที่ขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

    2) เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง จากการที่ไม่มีกำลังซื้อสะท้อนจากราคาบ้านที่ยังตกต่ำ

    3) ต้องติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก (หาก Donald Trump ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้เชื่อว่าสงครามความรุนแรงต่างๆ จะทยอยลดลง แต่อาจมีสงครามการค้าเพิ่มขึ้นแทนจากการตั้งกำแพงภาษีที่เพิ่มขึ้น)

    ในส่วนของประเทศไทยปัจจัยที่น่ากังวลคือ เรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะช่วงที่เกิดการระบาดของ Covid-19 ที่ไทยปิดประเทศค่อนข้างนานส่งผลให้คนบางส่วนต้องกู้เงินหนี้นอกระบบเพื่อมาใช้จ่าย ซึ่งสะท้อนจากข้อมูลของลูกหนี้ที่มีปัญหาในปัจจุบันพบว่า ส่วนใหญ่มีหนี้นอกระบบค่อนข้างสูง

    ทั้งนี้ กรณีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงจะกลายเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยโดยช่วงที่ผ่านมายังเริ่มเห็นการปล่อยสินเชื่อรถยนต์น้อยลง และสถานการณ์เหล่านี้ยังทำให้เห็นอัตราการเติบโตของสินเชื่อของไทยมาอยู่ที่ราว 1 เท่าของ GDP (ในอดีตมักจะขยายตัว 2 เท่าของ GDP)

    ขณะที่หากปี 2567 นี้ GDP ไทยเติบโตราว 2.7 ถึง 2.8% คาดว่าสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพน่าจะเติบโตราว 3-4% โดยมีแรงส่งจากรายได้ในต่างประเทศซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 25% ของรายได้รวม ปัจจุบันมีรายได้จาก Permata Bank ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตสูงถึง 7% ส่งผลให้เห็นสินเชื่ออาจจะเติบโตได้ถึง 10% (ของไทยที่ราว 3% ต่อปี)

    อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าตลาดสินเชื่อไทย แม้บางเซคเตอร์ ยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนสูง เช่น SME Ploan ฯลฯ แต่หลายเซคเตอร์ยังมีโอกาสเติบโต อาทิ กลุ่มรายใหญ่ที่เริ่มเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวทำให้เริ่มวางแผนการลงทุนมากขึ้น

    นอกจากนี้ กลุ่มสินเชื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันโรงงานและบริษัทต่างๆได้ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีแบบเดิมมาระยะหนึ่งแล้วจึงต้องลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตขึ้น อีกทั้งสินเชื่อกลุ่ม Green และการเปลี่ยนผ่านสู่ Low-carbon ที่ทุกองค์กรต้องยกระดับมาตรฐานขึ้น



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : KKP มองผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ต่อไทย ใครชนะก็ไม่ต่าง การกีดกันการค้ามาแรง ส่งออกเสี่ยงกระทบ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine