ภายใต้โลกดิจิทัล ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่กลับมีกระแสข่าวว่าไม่ค่อยทำกำไรเท่าไร ในส่วนของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมี ‘ใคร’ ได้ใบอนุญาตด้าน Virtual Bank ของไทยไป ล่าสุดฝั่งแบงก์กรุงเทพ ออกมาย้ำอย่างมั่นใจว่า พร้อมที่แข่งในการเปิด Virtual Bank เพราะมีพันธมิตรหลากหลายมีฐานลูกค้า มีฐานข้อมูล และมีความสามารถเพียงพอในทุกด้าน
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เปิดเผยว่า ปัจจุบัน Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ แต่กลับพบว่าบางส่วนยังไม่สามารถทำกำไรมากนัก ทั้งนี้ มองว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยที่จะทำให้ Virtual Bank มีกำไร ได้แก่
1) การมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เพราะปัจจุบัน บางเจ้าที่เริ่มทำ Virtual Bank ต้องลงทุนสูงทั้งระบบ Core Banking และระบบต่างๆ เพราะแม้ว่าบางธนาคารอาจมีระบบ Core Banking ในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็น Virtual Bank ต้องมีการสร้างระบบ Core Banking ขึ้นใหม่ซึ่งอาจใช้เงินหลักพันล้านบาท และทำให้บางบริษัทยังไม่ทำกำไร
2) Virtual Bank ที่เกิดใหม่ต้องมาการแข่งขันกับธนาคารแบบดั้งเดิม ดังนั้นปัจจัยสำคัญคือ ต้องมี ecosystem ทั้งฐานลูกค้าจำนวนมาก และต้องมีฐานข้อมูลของลูกค้าที่น่าสนใจสำหรับนำมาใช้ในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ธุรกรรมการซื้อขาย การใช้จ่าย เป็นต้น
3) สามารถควบคุมความเสี่ยง สินเชื่อ และมีความสามารถในการเป็นธนาคารที่มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีพันธมิตรเป็น Sea Group ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม Shopee ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทำธุรกิจ Virtual Bank ในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ดังนั้นอาจไม่ต้องลงทุนสร้างระบบต่างๆ ขึ้นใหม่และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจลงได้
นอกจากนี้ การขอใบอนุญาตฯ จากธปท. ครั้งนี้ ยังมีพันธมิตรอย่าง เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย ที่ทั้ง 2 พันธมิตรต่างมีฐานข้อมูลลูกค้ารวมถึงความสามารถด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจ ในส่วนของแบงก์กรุงเทพ ยังมีนโยบายในการให้สินเชื่ออย่างระมัดระวังอยู่แล้ว จึงเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรของเราจะได้คะแนนดีจากทั้ง 3 ปัจจัยในการทำ Virtual Bank
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘Virtual Bank’ ธนาคารไร้สาขา โอกาสของทุนใหญ่หรือคนไทยจะเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine