‘BBGI’ จับเทรนด์ไบโอเบส เล็งหลังเข้าตลาดดันมูลค่าเพิ่มเท่าตัว - Forbes Thailand

‘BBGI’ จับเทรนด์ไบโอเบส เล็งหลังเข้าตลาดดันมูลค่าเพิ่มเท่าตัว

BBGI มั่นใจกระแสรักษ์โลกขับเคลื่อนธุรกิจโตเท่าตัวใน 2-3 ปี เดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังนำเงินขยายกำลังการผลิตแตะ 2 ล้านลิตรต่อวัน และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ไบโอเบส

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ปักธงเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดมาหลายปี และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การผลักดัน บริษัท บีซีพี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปลายไตรมาส 3 ปี 2559 ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด และในไตรมาส 3 ปี 2561 BCP วางแผนนำบริษัทย่อยอีก 1 แห่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 1.71 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็นเอทานอล 900,000 ลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 810,000 ลิตรต่อวัน ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ แห่ง BCP ในฐานะบริษัทแม่ของ BBGI กล่าวว่า BBGI ที่จัดตั้งเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมานั้น เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BCP ที่ถือหุ้นอยู่ 60% และ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ถือหุ้น 40% ด้วยพันธกิจหลักคือการดำเนินธุรกิจผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กร ขณะเดียวกับที่ไม่สร้างมลพิษให้กับโลกเพิ่ม ด้วยเป้าหมายเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง
โรงงานผลิตเอทานอลและแป้งมันสำปะหลังของ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล ที่ จ.อุบลราชธานี กำลังการผลิต 4 แสนลิตรต่อวัน
อย่างไรก็ตาม BBGI ที่มีทุนจดทะเบียน 2.53 พันล้านบาทนั้น มีต้นกำเนิดจากการควบกิจการระหว่าง บริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด (BBH) (บริษัทย่อยของบริษัท BCP) และบริษัท เคเอสแอล จีไอ จำกัด (KSLGI) (บริษัทย่อยของ KSL) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจเอทานอลและไบโอดีเซล อีกทั้งสามารถกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล ทั้งมันสำปะหลังและกากนํ้าตาล ทั้งนี้ BBGI มีบริษัทย่อย 4 บริษัท ประกอบด้วย
  1. บริษัท บางจาก ไบโอฟูเอล จำกัด หรือ BBF ซึ่ง BBGI ถือหุ้นในสัดส่วน 70% ประกอบธุรกิจผลิตไบโอดีเซลโดยใช้นํ้ามันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบหลัก ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวมที่เพิ่มขึ้นเป็น 810,000 ลิตรต่อวัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้างโรงงานต้นแบบทดลองผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงจากกรดไขมันปาล์ม เพื่อผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูง พร้อมทั้งเริ่มศึกษาโครงการผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของบริษัท
  2. บริษัท บางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด หรือ BBE ซึ่ง BBGI ถือหุ้นในสัดส่วน 85% ตั้งอยู่ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบธุรกิจผลิตเอทานอลโดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก มีกำลังการผลิตเอทานอล 150,000 ลิตรต่อวัน
  3. บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด หรือ UBE ซึ่ง BBGI ถือหุ้นในสัดส่วน 21.28% ตั้งอยู่ที่ อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี ประกอบธุรกิจผลิตเอทานอล กำลังผลิต 400,000 ลิตรต่อวัน โดยสามารถใช้มันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น และกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ รวมถึงผลิตแป้งมันสำปะหลัง กำลังการผลิต 700 ตันต่อวัน และผลิตไฟฟ้าจากนํ้าเสียที่ได้จากกระบวนการผลิตเอทานอลและแป้งมันสำปะหลัง
  4. บริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ซึ่ง BBGI ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลโดยใช้กากนํ้าตาล มีกำลังการผลิตรวม 350,000 ลิตรต่อวัน
“ที่มาที่ไปของ BBGI คือ บางจากได้เจอกับน้ำตาลขอนแก่นซึ่งเป็นผู้ผลิตเอทานอลเช่นเดียวกัน การควบรวมกันจะทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังยึดหลักพลังงานสะอาดเหมือนกัน จึงเกิดเป็นการควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และกำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่าจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ” ชัยวัฒน์กล่าวว่า ในเบื้องต้น BBGI จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในไตรมาส 3 ปี 2561 โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้นไอพีโอ 25-30% ของทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว ภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอแล้ว BCP น่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 40% ส่วน KSL น่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 25-28% สำหรับผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพในปี 2560 มีรายได้รวม 8.073 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 980 ล้านบาท มี EBITDA รวม 529 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 203 ล้านบาท โดยในปี 2560 รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก UBE จำนวน 62 ล้านบาท และจากการควบรวมบริษัททำให้รับรู้ผลการดำเนินงานของ KGI เพียง 2 เดือน (พ.ย. - ธ.ค. 60) ซึ่งมี EBITDA จำนวน 21 ล้านบาท ขณะที่อัตราการเติบโตของผลประกอบการปี 2561 BBGI เชื่อมั่นว่าจะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยภายหลังการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ BBGI จะนำเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นไปขยายกำลังการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพให้เพิ่มเป็น 2 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ BBGI มีเป้าหมายเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ เพิ่ม โดยเริ่มจากเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องใช้ครัวเรือน เสื้อผ้า รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปโดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการมีแบรนด์ของ BBGI เอง เพื่อขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมถึงยังอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนด้านธุรกิจชีวภาพในโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใน 5 ปี ที่คาดว่าจะอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชัยวัฒน์กล่าวว่า ในระยะใกล้ BBGI จะยังมีรายได้หลักจากการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพ การเติบโตหลักจะขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตโดยรวม แต่ในระยะกลางผลิตภัณฑ์ชีวภาพจะโดดเด่นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีอัตราเร่งของการเติบโตที่สูงกว่าการจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพ “ไบโอเบสหรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพเป็นโกลบอลเทรนด์ ลูกค้าก็ต้องการมากขึ้น แต่จะมีแหล่งไหนที่สามารถผลิตได้ปริมาณที่เพียงพอและมีอัตราการผลิตสม่ำเสมอ ราคาสมเหตุสมผล เชื่อว่าประเทศไทยเหมาะมาก เพราะมีสินค้าทางการเกษตรจำนวนมาก ถ้านำสินค้าเกษตรเหล่านั้นมาแปรเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพก็จะเพิ่มมูลค่าได้” ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ภายหลังการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว BBGI จะเป็น growth stock และจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้เป็นเท่าตัวภายในระยะเวลา 3-5 ปี   เรื่อง: ศนิชา ละครพล ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่าน Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "WEALTH MANANAGEMENT & INVESTING 2018" ในรูปแบบ e-Magazine