กรุงศรี มองปี 67 สินเชื่อลูกค้าญี่ปุ่นท้าทายมากจากปีก่อนที่หดตัว 10.4% แต่ยังตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อลูกค้าญี่ปุ่นและข้ามชาติเติบโต 7% จากปีก่อน โดยไตรมาส 1/67 หดตัว 3.3% แต่ยังเห็นโอกาสขยายธุรกิจในอาเซียนโดยเฉพาะ เวียดนาม-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ที่เศรษฐกิจโตดี
นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY เปิดเผยว่า ปี 2567 นี้ ตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อบรรษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC) อยู่ที่ 7% จากปีก่อน โดยยอดสินเชื่อปัจจุบันที่อยู่ 233,494 ล้านบาท (ณ ไตรมาส 1 ปี 2567) ซึ่งมีสัดส่วนของ JPC อยู่ที่ 88% ส่วน MNC สัดส่วนอยู่ที่ 12% โดยจะรักษาระดับหนี้เสีย (NPL) ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่ามา แม้ในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เป้าหมายของปีนี้ถือว่าท้าทายมากเพราะสินเฃื่อ JPC/MNC ในปี 66 หดตัวถึง 10.4% เกิดจากการชะลอตัวในอุตสาหกรรมหลักเช่น ยานยนต์ (และสินเชื่อ JPC/MNC ยังหดตัว 3.3% หากเทียบสิ้นปี 66) แต่คาดว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ชะลอตัวในปีก่อนจะฟื้นตัวในปีนี้ อีกทั้งทางธนาคารได้ขยายไปยังกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโต เช่น Logistic อสังหาริมทรัพย์ และพลังงานทดแทน ฯลฯ
ส่วนการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นมาไทยในช่วงนี้ ยังคงมีทั้งการลงทุนตรง และ Joint venture ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ ซึ่งกลยุทธ์หลักในปี 67 นี้จะเน้นการนำพาลูกค้าไปขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ภาพรวมเติบโตถึง 4.5% ผ่าน Krungsri ASEAN LINK โดยประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจ และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง ได้แก่
- เวียดนาม ที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีนเข้าไปมากแล้ว ซึ่งทางกรุงศรีฯ มี MOU กับ ศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (MIC) ของเวียดนาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรม และเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเข้าไปขยายธุรกิจได้ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5.8%
- อินโตนีเซีย ที่เศรษฐกิจเติบโต 5%
- ฟิลิปปินส์ ที่เศรษฐกิจเติบโต 5-6%
ทั้ง 3 ประเทศนี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทย แต่โดยรวมอาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่เห็นโอกาสสูง ดังนั้นจากการมีเครือข่ายของ MUFG ทั่วภูมิภาคจะช่วยสนับสนุนการเติบโตให้ลูกค้าได้
ในส่วนของไทยมองว่าความท้าทายหลักคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมสูงวัย หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทำให้อาจต้องระมัดระวังในกลุ่มบริษัทเช่าซื้อ แต่ด้วยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก กลับทำให้หลายประเทศยังสนใจย้ายฐานการผลิตมาไทย ทั้งนี้ ทางกรุงศรีฯ จึงมีแผนขยายฐานลูกค้าบรรษัทข้ามชาติจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Economies) โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลี มาลงทุนในไทยให้มากขึ้น
ขณะที่แนวโน้มระยะกลาง ประเมินว่าการเติบโตกลุ่มของ JPC/MNC ในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้จะท้าทายมาก เพราะหากประเมินจาก GDP ไทยปีนี้อยู่ที่ 2.7% ซึ่งธุรกิจการเงินธนาคารจะเติบโตสอดคล้องกับประมาณการ GDP ของประเทศ
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พัชรินทร์ เหมอังกูร จัดทัพ “Gourmet One” บุกรีเทล ปั้นร้านอาหาร-เชฟ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine