เอไอเอ ประเทศไทย เผยภาวะเศรษฐกิจปี 2567 ไม่กระทบธุรกิจประกันฯ ปีนี้ยังรุกหนักประกันสุขภาพ ชูแคมเปญ ‘LIVING TO 100’ เร่งสร้างโซลูชันทั้งด้านสุขภาพและการเงิน พร้อมขยายความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี และกำลังศึกษาฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ารวมถึง Co-Payment และ Deductible
นายนิคฮิล แอดวานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและภาวะหนี้ครัวเรือนสูงของไทยยังมองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิต เพราะยังเห็น Demand ด้านประกันภัยของคนไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะประกันสุขภาพที่เป็นที่นิยมในช่วงหลังจากการระบาด COVID-19 ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์ปัจจุบันยังเห็นแนวโน้มที่คนจะมีอายุขัยยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 100 ปี เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง เช่น มีการคาดการณ์ว่าเด็กที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุถึง 100 ปี ดังนั้นทาง AIA จึงได้ออกแคมเปญ ‘LIVING TO 100’ เพื่อช่วยวางแผนสุขภาพ-การเงินในระยะยาว โดยมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าทุกกลุ่มเข้าถึงได้ และปัจจุบันได้เริ่มขยายความคุ้มครองให้ยาวถึงอายุ 99 ปีแล้ว
ทั้งนี้ แผนงานของ เอไอเอ ประเทศไทย ปี 2567 จะมุ่งเน้นใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) Agency Transformation พัฒนาช่องทางตัวแทนประกันชีวิตให้ทันสมัย 2) Business Partner Acceleration ร่วมกับพันธมิตรสร้างการเติบโต 3) มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 4) สร้าง Digitalisation Journey ทั้งในฝั่งลูกค้าและตัวแทน 5) Employee Wellbeing ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และ 6) Future Healthcare นำเสนอโซลูชันด้านการดูแลและรักษาสุขภาพที่ตอบโจทย์ลูกค้า
เอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีจำนวนลูกค้าประกันชีวิตกว่า 5 ล้านราย โดยมีสัดส่วนประกันสุขภาพถือว่าสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประกันสุขภาพเป็นที่สนใจของลูกค้าอย่างมาก ทำให้บริษัทฯ มีการปรับฟีเจอร์ และกรมธรรม์เพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น และเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอ
ทั้งนี้ ปัจจุบันทางบริษัทเร่งศึกษา พัฒนาทั้งฟีเจอร์และแบบประกันใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้า ผ่านความร่วมมือจากโรงพยาบาลเพื่อให้ตอบโจทย์ Future Healthcare โดยคาดว่าปี 2567 นี้อาจมีฟีเจอร์ และผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเพิ่มหลายอย่าง แต่ยังไม่สามารถลงในรายละเอียดได้
ขณะเดียวกัน ทางบริษัทฯ ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับ CoPayment (การมีส่วนร่วมจ่าย) และ Deductible (ความรับผิดส่วนแรก) ที่แม้จะมีแบบประกันนี้ในต่างประเทศแล้ว แต่หากจะนำมาปรับใช้ในไทยยังต้องดูความพร้อมในภาพรวม ซึ่งเบื้องต้นมองว่า CoPayment ถือว่าน่าสนใจ
ทั้งนี้ เอไอเอ ประเทศไทย รายงานว่า ปี 2566 ที่ผ่านมามูลค่าธุรกิจใหม่ (VONB) อยู่ที่ 24,857 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 21% ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่มีส่วนแบ่งการตลาด 24% นอกจากนี้ ยังมีส่วนแบ่งการตลาดในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม เช่น
- ยอดขายสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 50%
- ยอดขายสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 57%
- ยอดขายประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิต ลิงค์) มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 59%
- ยอดขายประกันกลุ่ม มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 22%
ขณะที่ช่องทางการขายหลักอย่างตัวแทน ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 50,000 คน ในปี 2567 จะมีการเพิ่มตัวแทนคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาเครื่องมือดิจิทัล AIA ONE ให้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนช่องทางการขายผ่านพันธมิตร (เช่น ธนาคาร ดีลเลอร์รถยนต์) ยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ปี 67 ราคาเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าอาจพุ่ง 30% BKI คาดปีนี้เบี้ยรับรวมโต 8% มุ่งปรับโครงสร้างหวังโตยั่งยืน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine