6 ข้อสังเกต GDP ไตรมาส 4 ปี 2019 - Forbes Thailand

6 ข้อสังเกต GDP ไตรมาส 4 ปี 2019

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิด 6 ข้อสังเกต GDP ไตรมาส 4 ปี 2019 ชี้เติบโตต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส หรือตั้งแต่รัฐประหารปี 2014

1.GDP ไตรมาส 4 เติบโตต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส หรือตั้งแต่รัฐประหารปี 2014

GDP ไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 ขยายตัวเพียง 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นขยายตัวที่ต่ำที่สุดของเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ช่วงรัฐประหารปี 2014 โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ

ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวแต่ด้วยอัตราที่ชะลอลง สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยซ้ำ ทำให้ GDP ทั้งปี ขยายตัวเพียง 2.4% ชะลอตัวจากการขยายตัว 4.1% เมื่อปีก่อน เป็นการขยายตัวต่ำสุดตั้งแต่ปี 2014

2.ภาคบริการ แรงขับเคลื่อนหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจไทย

ภาคท่องเที่ยวและการบริการเป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงทำงานในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา โดยภาคบริการโดยรวมขยายตัวเป็นบวก 4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโตติดลบที่ 0.9% และภาคการเกษตรติดลบที่ 1.6% จึงทำให้น่าเป็นห่วงว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะกระทบภาคบริการที่เป็นเครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถูกกระทบอย่างหนักในช่วงต้นปีนี้

และด้วยความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ ทั้งภาคผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงจากการส่งออก ภาวะภัยแล้งที่กระทบภาคเกษตร และผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจากการระบาดของเชื้อไวรัส อาจทำให้เศรษฐกิจไทยนอกจากจะไม่มีเครื่องจักรในการกระตุ้นแล้ว ยังขาดภาคเศรษฐกิจที่คอยพยุงเพื่อรองรับแรงปะทะอีกด้วย

3.GDP โตจากการนำเข้าที่ลดลง

การส่งออกไทยในไตรมาส 4 ติดลบ 3.6% แต่การนำเข้าติดลบถึง 8.3% ทำให้การขยายตัวของการส่งออกสุทธิ (ส่งออกลบนำเข้า) กลับกลายเป็นบวก และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ GDP ไตรมาสสุดท้ายขยายตัวได้

แต่ตัวเลขเช่นนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจ เนื่องจากการนำเข้าที่ลดน้อยลงอาจส่งสัญญาณถึงภาวะการผลิต และการลงทุนที่ซบเซา (บริษัทลดการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต และลดการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการลงทุน) และกำลังซื้อของคนในประเทศที่อ่อนแอลง

ภาพจาก AFP

4.การใช้จ่ายที่ขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากคนไทยเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น

ถึงแม้ว่าตัวเลขการบริโภคสินค้าและบริการภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีที่ 4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 4.3% เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อดูไส้ในแล้ว พบว่าการบริโภคที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการที่คนไทยเที่ยวและใช้จ่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก (โต 18% ในไตรมาสล่าสุด)

ซึ่งถึงแม้จะนับรวมอยู่ในการบริโภคภาคเอกชน แต่ไม่ได้เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในประเทศ (และถูกหักออกเป็นการนำเข้าบริการ”) โดยหากพิจารณาเฉพาะการบริโภคของคนไทยที่ใช้จ่ายในประเทศจะเติบโตเพียง 3.4% เท่านั้น ซึ่งชะลอลงจากค่าเฉลี่ย 4.3% ในสามไตรมาสก่อนหน้า

5.การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐฉุดรั้ง GDP

การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวลง 0.9% และการลงทุนภาครัฐหดตัวถึง 5.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากความล่าช้าของการผ่านร่าง ...งบประมาณ ที่ทำให้อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณลดลงอย่างมาก ตามที่ KKP Research เคยประเมินไว้ สะท้อนถึงนโยบายการคลังของภาครัฐที่ควรทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจในยามยาก ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอ และถึงแม้ล่าสุด ...งบประมาณจะถูกผลักดันจนผ่านไปได้แล้ว แต่เราน่าจะยังเห็นตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังแผ่วในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ จากความล่าช้าของกระบวนการเบิกจ่าย

6.สินค้าคงคลังปรับลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของ GDP ส่วนสำคัญมาจากสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (แปลง่ายๆ คือ ผลิตมากกว่าขายของได้ จึงมีสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น) แต่ใน 2 ไตรมาสล่าสุด เราเริ่มเห็นสัญญาณการลดลงของสินค้าคงคลัง ซึ่งอาจสะท้อนกำลังการบริโภคที่ต่ำลงซึ่งรวมถึงอุปสงค์จากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมลดการผลิตและทยอยลดสต๊อกสินค้า (สอดคล้องกับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง) สินค้าคงคลังที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนทำให้ GDP ในไตรมาสนี้ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก

   
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine