จับตา 4 ปัจจัยหนุนหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัว - Forbes Thailand

จับตา 4 ปัจจัยหนุนหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัว

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย.-ต.ค. 66) ดัชนีหุ้นไทย (SET INDEX) ปรับตัวลดลงเกิน 10% บล. เอเซีย พลัส คาดว่าหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสงครามเพิ่มขึ้น SET INDEX มีโอกาสฟื้นตัวจาก 4 ปัจจัยสนับสนุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชี้โอกาสลงทุนหุ้นมูลค่าต่ำกว่า Book Value ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น


    บทวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ภาพรวม SET INDEX ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย.- ต.ค. 66) ปรับตัวลดลงมากกว่า 10% ถือเป็นการลดลงในระดับลึกมาก 

จนระดับ PECENTILE (ตัวเลขที่ใช้วัดผลตอบแทนและความผันผวนของกองทุน ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี) สูงกว่า 90% เทียบกับข้อมูลทั้งหมดใน 48 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่มีสงคราม หรือสงครามจบลง คาดว่า SET จะเริ่มฟื้นตัวจาก 4 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่

1. รัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

2. เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 มีแนวโน้มดีขึ้น คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยไตรมาสละ 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ การส่งออก และการบริโภคในประเทศ

3. คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไตรมาส 3/66 จะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

4. Valuation ของ SET อยู่ในจุดที่น่าทยอยสะสม ทั้ง P/E ที่ต่ำกว่า 15.5 เท่า และ PBV อยู่ที่ 1.34 เท่า และ EPS Growth ในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 12.6% อยู่ในระดับต้น ๆ ของเอเชีย


    นอกจากนี้ บล.เอเซีย พลัส คาดว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวจากปัจจัยภายนอก โดยสหรัฐเปิดขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ มูลค่า 1.12 แสนเหรียญสหรัฐ และเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ 5.5% 

    ขณะที่ข้อมูลจาก FED WATCHTOOL คาดว่าเฟดจะมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. มีสัดส่วนไม่ถึง 20% ทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐ 10 ปี ปรับตัวลงแรง

    การปรับตัวของหุ้นไทยที่ลงลึกจนทำให้มีหุ้นราคาถูก โดยใน SET 100 มีหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่า Book Value ถึง 35 บริษัท จาก 100 บริษัท อาทิ RCL STA STGT IRPC EGCO PTTGC SIRI BANPU BBL เป็นต้น รวมทั้หลายบริษัททยอยประกาศซื้อหุ้นคืนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อช่วยลดความผันผวนของตลาด และเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้


บล.กสิกรไทยมองแนวรับที่ 1,400 จุด

    บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (6-10พ.ย.) มีแนวรับที่ 1,400 และ 1,385 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด จากวันศุกร์ที่ 3 พ.ย. ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,419.76 จุด เพิ่มขึ้น 2.27% จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,508.75 ล้านบาท ลดลง 10.39% จากสัปดาห์ก่อน

    ดัชนีหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดได้อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ทีผ่านมา หลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามตลาดคาด และส่งสัญญาณ ซึ่งตลาดตีความได้ว่าเฟดอาจยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้มีแรงซื้อคืนหุ้นทุกกลุ่ม 

นำโดยกลุ่มสถาบันการเงิน และเทคโนโลยี และมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย

    ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขนำเข้าและตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น และยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของอังกฤษ ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค.ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต


ดัชนี KR-ECI ปรับตัวดีขึ้น

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนต.ค. 66 และดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ที่ 38.5 และ 41.0 ตามลำดับ แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยมีมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายของภาครัฐเข้ามาช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ทั้งราคาน้ำมัน และราคาสินค้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีดัชนีฯ มีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ จากผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจับจ่ายของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวและการสังสรรค์เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและวันหยุดยาว รองลงมาครัวเรือนคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันมากที่สุด ได้แก่ ค่าอาหาร และค่าสาธารณูปโภค

    สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าดัชนี KR-ECI ยังคงมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่จะมีผลไปจนถึงสิ้นปี 2566 เป็นอย่างน้อย 

    ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ รวมถึงภาคส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของดัชนีฯ อาจมีหลายปัจจัยเข้ามากดดัน เช่น ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจผันผวนมากขึ้น รวมถึงความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐที่ยังต้องติดตาม



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ความท้าทายไม่เคยหยุดนิ่ง 12 ปี “LINE ประเทศไทย”

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine