4 ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปในปี 2018 - Forbes Thailand

4 ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปในปี 2018

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้ ขับเคลื่อนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นโยบายดอกเบี้ยต่ำและการอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากความผันผวนในตลาดการเงินที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ไม่มีอะไรถาวรโดยเฉพาะในโลกการเงินที่ทุกอย่างเคลื่อนไหวและสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เราจึงประเมินถึงปัจจัยเสี่ยงสำคัญอาจกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2018 ดังนี้ 1. สภาพคล่อง แม้สภาพคล่องจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2018 แต่อัตราการเพิ่มขึ้นก็มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในการประชุมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ลงครึ่งหนึ่ง จาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่ มกราคม 2018 เป็นต้นไป ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ก็ทยอยลดการเข้าซื้อสินทรัพย์มาอย่างต่อเนื่องหลังจากประกาศใช้มาตรการ Yield Curve Control ในเดือน กันยายน 2016 ซึ่งทำให้อัตราการซื้อสินทรัพย์ลดลงจาก 80 ล้านล้านเยนต่อปี ในปี 2016 เป็น 60 ล้านล้านเยนต่อปีในช่วงปีที่ผ่านมา และเราคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 50 ล้านล้านเยนต่อปี ในปี 2018 ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้เริ่มทยอยดึงสภาพคล่องกลับมาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยประกาศลดขนาดงบดุลลงในอัตราไม่เกิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ซึ่งจะทยอยเพิ่มขึ้นไตรมาสละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จนไปถึงอัตราสูงสุดที่ให้งบดุลลดลงไม่เกิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ตั้งแต่ไตรมาส 4/2018 เป็นต้นไป แนวโน้มการดำเนินนโยบายของ 3 ธนาคารกลางหลักดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องโลกซึ่งที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไตรมาสมาตั้งแต่ปี 2013 ลดฮวบลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง (1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไตรมาส) ในไตรมาส 1/2018 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 0 ในไตรมาส 4/2018 และหลังจากนั้นสภาพคล่องของโลกจะเริ่มลดลงในปี 2019 2. ความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรป อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ ความเสี่ยงการทางเมืองในยุโรปที่ลดลงนับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสผ่านไปในเดือนพฤษภาคม ซึ่งนาย Emmanuel Macron สามารถเอาชนะนาง Marine Le Pen ที่มีนโยบายต่อต้านสหภาพยุโรปไปได้ และทำให้ตลาดคลายความกังวลต่อประเด็นเสถียรภาพของสหภาพยุโรป แต่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปก็ได้เริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจของตลาดอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/2017 หลังจากที่แคว้นคาตาลันในสเปนได้ลงประชามติและเริ่มกระบวนการแยกตัวออกจากสเปน และในปีหน้าความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปอาจกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1 ซึ่งจะมีการเลือกอิตาลี ซึ่งโพลชี้ว่าพรรค Five Star Movement ที่ชูนโยบายต่อต้านสหภาพยุโรปยังมีคะแนนความนิยมสูงสุด ยิ่งไปกว่านั้นการเลือกตั้งอิตาลีจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเริ่มลด QE ของ ECB ในไตรมาส 1 ซึ่งทั้งสองปัจจัยอาจส่งผลให้ Bond yield ในกลุ่มประเทศ Peripheral Europe เช่น สเปน และอิตาลี พุ่งสูงขึ้น 3. นโยบายเศรษฐกิจของจีน นโยบายด้านเศรษฐกิจของจีนเปลี่ยนทิศอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งปีแรกทางการจีนได้ใช้นโยบายที่เข้มงวด เช่น การขึ้นดอกเบี้ยในตลาดเงิน และออกมาตรการคุมเข้มในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ และลดความเสี่ยงฟองสบู่ในตลาดบ้าน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 2 แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 ธนาคารกลางจีนก็ได้เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินก่อนเริ่มการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นการประชุมทางการเมืองครั้งสำคัญที่จัดขึ้นทุก 5 ปีเพื่อคัดเลือกผู้นำระดับสูงของพรรคคอมนิวนิสต์ หลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ผ่านพ้นไป เราคาดว่าทางการจีนจะเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ และกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง เพื่อควบคุมระดับหนี้ และลดความเสี่ยงฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อไป โดยนักลงทุนควรจับตาการแถลงนโยบายเศรษฐกิจของจีนในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งจีนจะประกาศเป้า GDP และดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอื่นๆ ของปี 2018 ซึ่งหากจีนมีการปรับเป้า GDP ลง หรือเป้าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การขยายตัวของสินเชื่อและปริมาณเงินในระบบ ส่งสัญญาณว่าจีนจะดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้น ก็จะส่งผลกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกตามไปด้วย 4. ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ พรรค Republican ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้งปี 2016 ซึ่งไม่เพียงแต่นายโดนัล ทรัมป์ จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอย่างพลิกความคาดหมายแล้ว พรรค Republican ยังชนะเลือกตั้งและครองเสียงข้างมากในทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าการผ่านกฎหมายและการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะประสบผลสำเร็จได้โดยง่ายภายใต้การนำของพรรค Republican ทั้งในทำเนียบขาวและในสภาคองเกรส แต่การเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm election) ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2018 อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นดังกล่าว โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีสมาชิกสภาผู้แทนฯ (ส.ส.) ครบวาระ 2 ปี ต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดจำนวน 435 ที่นั่ง และมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 1 ใน 3 หรือ 33 จาก 100 ที่นั่ง ครบกำหนดหมดวาระ 6 ปี โดย ส.ว. จำนวน 33 ที่นั่งที่ต้องเลือกตั้งใหม่เป็นสมาชิกของพรรค Republican 8 คน และเป็นสมาชิกของพรรค Democrat 25 คน ผลสำรวจล่าสุดระบุว่าทางพรรค Republican น่าจะสามารถรักษาที่นั่งในวุฒิสภาได้ 6 ที่นั่ง ขณะที่อีก 2 ที่นั่งมีความเสี่ยงอาจถูกพรรค Democrat แย่งไป ซึ่งได้แก่ รัฐ Nevada ซึ่งเป็นรัฐที่เลือกนาง Hillary Clinton จากพรรค Democrat ให้เป็นประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งปี 2016 และรัฐ Arizona ซึ่งส.ว. คนปัจจุบัน นาย Jeff Flake ประกาศว่าจะไม่ลงเลือกตั้งในสมัยหน้า เนื่องจากไม่พอใจการทำงานของประธานาธิบดี Trump ผลการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐในช่วงที่ผ่านมา ชี้ว่าความนิยมของพรรค Republican เริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ Virginia ซึ่งเป็น Swing State ที่สำคัญเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้สมัครจากพรรค Democrat ชนะไปด้วยคะแนน 54% ต่อ 45% ซึ่งถึงแม้เดิมรัฐนี้จะเป็นฐานเสียงของพรรค Democrat อยู่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึงส่วนต่างของคะแนนที่กว้างขึ้นกว่าในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ก็อาจชี้ว่าคะแนนนิยมของพรรค Republican นั้นเริ่มถดถอยลง นอกจากนี้ในการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ New Jersey ผู้สมัครจากพรรค Democrat ก็สามารถเอาชนะผู้สมัครพรรค Republican ไปได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หากพรรค Republican สูญเสียเสียงข้างมากในวุฒิสภา ก็จะเป็นอุปสรรคในการผ่านกฏหมาย และการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งตลาดคาดหวัง และอาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ประธานธิบดีทรัมป์แพ้การเลือกตั้งในสมัยต่อไปในปี 2020 ด้วย Valuation ของตลาดหุ้นที่อยู่ในระดับสูงทั่วโลก เรามองว่ากลยุทธ์การลงทุนในปี 2018 ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงหุ้นที่ปรับขึ้นร้อนแรงในระยะสั้น เน้นลงทุนในตลาดหรือ Sector ที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และควรติดตามตลาดอย่างใกล้ชิดและหมั่นขายเพื่อทำกำไรระยะสั้นและลดความเสี่ยง