ไทยเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด - Forbes Thailand

ไทยเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด

รัฐบาลไทยเริ่มผลักดันแนวคิด National e-Payment หรือการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ช่วงปี 2558 โดยมีโครงการสำคัญที่เปิดตัวไปแล้วคือ “พร้อมเพย์ - PromptPay” เพื่อส่งเสริมการโอนเงินและรับเงินผ่านหมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกติดกับบัญชีธนาคารไว้ และในเดือนสิงหาคมธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดตัว  “Standard QR Code” เพื่อรับชำระเงินและให้บริการผ่านร้านค้าด้วย QR มาตรฐานเดียวกันร่วมกับธนาคารและผู้ให้บริการบัตรเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งสองโครงการนับว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนและเวลาในการบริหารจัดการด้านการเงิน  

ลดต้นทุน “สังคมเงินสด”

การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดจะทำให้ต้นทุนด้านการลงทุนลดต่ำลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย ไปจนถึงการขนย้ายเงินไปยังธนาคาร ปัจจุบันธนาคารในประเทศไทยมีต้นทุนทางการเงินจากการบริหารจัดการเงินสดทั้งระบบของประเทศไทยในแต่ละปีมูลค่าสูงถึง 9 พันล้านบาท ตั้งแต่การให้บริการตู้กดเงินสดอัตโนมัติหรือ ATM รวมกันราว 50,000 ตู้ ซึ่งหากนับเฉพาะต้นทุนตู้กดเงินสดอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว จะมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท โดยยังไม่นับรวมค่าติดตั้งหรือจำนวนธนบัตรที่รอจ่ายภายในตู้ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตบัตรเครดิต บัตรเดบิต มีมูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2556 มีบัตรเครดิตเกิดใหม่เฉลี่ย 3% ต่อปี สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2560 มีจำนวนบัตรเครดิตที่เกิดขึ้นแล้ว 19.8 ล้านใบ นอกจากต้นทุนทางการเงิน วัตถุประสงค์หลักของการสร้างสังคมไร้เงินสดคือ การเข้าถึงธุรกรรมและบริการทางการเงินของกลุ่มคนทุกกลุ่มและชนชั้น อาทิ กลุ่มคนที่ไม่สามารถระบุเส้นทางทางการเงิน เงินทุนหมุนเวียน รวมไปถึงต้นทุนและกำไรจากการค้าขาย โดยการชำระบริการหรือการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้สถาบันการเงินสามารถรับรู้ข้อมูลทางการเงินของผู้กู้ได้ ในขณะที่ร้านค้าเองสามารถมีช่องทางการชำระมากไปกว่าเงินสดหรือบัตรเครดิต รวมไปถึงมิติความสะดวกสบายทางด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาก PromptPay และ Standard QR Code ทว่า ภายใต้ความสะดวกสบายก็แฝงด้วยข้อกังวลจากหลายฝ่ายว่า การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดจะนำมาซึ่งอันตรายและความเสียหายจากการโจรกรรมข้อมูลทางด้านการเงิน รวมทั้งความเป็นส่วนตัวทางด้านการเงิน  

สู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Forbes Thailand ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะสื่อมวลชนร่วมเปิดประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและการเกิดใหม่ของนวัตกรรมทางการเงินและบริการจากสำนักงาน IBM, MasterCard และ VISA พร้อมกับทีมผู้บริหารกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่นำโดย ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ แม้ทั้งสามบริษัทจะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น พวกเขาเองมีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวตามกระแสเช่นกัน โดยตลอดระยะเวลาการก่อตั้ง IBM ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองมาโดยตลอด IBM ปรับเปลี่ยนตัวเองใน 3 เรื่อง คือ การสร้างเทคโนโลยีล้ำสมัย การแข่งขันกับคู่แข่งจากอุตสาหกรรมที่แตกต่างออกไป และการสร้างการให้บริการที่ตรงจุดลูกค้ายิ่งขึ้น โดยมี IBM Studio เป็นที่ตั้งของ IBM Watson Center, IBM Bluemix Garage และ IBM Interactive Experience Center (iX) เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา กิจกรรม และเวิร์คช็อปเฉพาะทางสำหรับกลุ่มผู้คิดค้นนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นบริษัท สตาร์ทอัพ หรือนักพัฒนา IBM มองว่า 88% ของข้อมูลที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างครอบคลุมและคอมพิวเตอร์ทั่วไปยังไม่มีความสามารถในการเข้าใจความหมายของข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเติบโตจนมีปริมาณถึง 44 เซตตะไบท์ภายในปี 2563 ขณะที่ปัจจุบันมีองค์กรเพียง 15% เท่านั้นที่สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงลึกมาใช้ประโยชน์จริง
IBM มองว่า 88% ของข้อมูลที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เป็นข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างครอบคลุมและคอมพิวเตอร์ทั่วไปยังไม่เข้าใจความหมาย ปัจจุบันมีองค์กรเพียง 15% เท่านั้นที่นำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงลึกมาใช้ประโยชน์จริง
จึงเป็นที่มาของ IBM ในการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเรียกว่า cognitive computing ที่ชื่อ IBM Watson โดย IBM Watson จำลองกระบวนการคิดของมนุษย์และเรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุดพร้อมผสานความสามารถ 5 แขนงประกอบด้วย การวิเคราะห์ big data การสร้างปัญญาประดิษฐ์ การสร้างระบบที่เข้าใจภาษาธรรมชาติภาพและเสียงแบบเดียวกับมนุษย์ การสร้างระบบองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทความรู้ และโครงสร้างพื้นฐานและพลังการประมวลผลขั้นสูง  

AI ผสานโลกการเงิน

ปัจจุบัน IBM Watson ถูกนำไปใช้แล้วในกว่า 20 อุตสาหกรรมจาก 45 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย อาทิ
  • askPRU ของ Prudential โดยเป็นการพัฒนา AI chatbot ร่วมกับ NCS และ Nokomai Studios ทำหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการเงินผ่านแอพพลิเคชั่น ทำให้สามารถดึงข้อมูลกรมธรรม์ วันครบกำหนดชำระเบี้ย สถานะการเคลม และสามารถสร้างใบเสนอราคาได้ภายใน 3 วินาที
  • ร่วมมือกับ H&R Block ผู้ให้บริการด้านภาษีสำหรับผู้บริโภค ประมวลข้อมูลความรู้ด้านภาษีนับพันรายการ ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีของ H&R Block สามารถตรวจสอบความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถได้รับเงินคืนภาษีเพิ่มเติมหรือเสียภาษีลดลง
  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล นำ IBM Watson ไปใช้เพื่อหาแนวทางเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง
  • ปตท. นำเทคโนโลยี IBM Watson IoT มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
ในขณะที่ MasterCard เปิดศูนย์แสดงนวัตกรรมและศูนย์วิจัยและพัฒนา MasterCard Asia Pacific Innovation Showcase and Labs เมื่อปี 2558 ภายในพื้นที่สำนักงาน MasterCard สิงคโปร์ เพื่อเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยีที่เป็นมากกว่าบริการด้านการเงิน MasterCard ได้นิยามตัวขึ้นใหม่ในการสร้างโลกที่มากกว่าเงินสด
Pepper หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ที่ MasterCard Lab สิงคโปร์พัฒนาและผสานเข้ากับการชำระเงินแบบดิจิทัลอย่าง Masterpass
กว่า 9 ปีที่ผ่านมา MasterCard นำเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประสบการณ์ในการชำระเงินของลูกค้า อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ที่เรียกว่า Mastercard KAI ที่ MasterCard ร่วมกับ Kasisto ในการสร้างแพลตฟอร์ม AI ในระบบสนทนาที่ให้บริการเป็นผู้ช่วยทางด้านการเงินเสมือนจริง Masterpass QR เพื่อสร้างการชำระเงินแบบใหม่ผ่านโทรศัพท์มือถือแทนบัตรพลาสติก เป็นต้น สำหรับ VISA การทำงานในยุคปัจจุบันของ VISA “ลูกค้าคือนวัตกรรม” จึงเกิดเป็นการทำงานสองส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือการสร้าง Visa Innovation Center ศูนย์นวัตกรรมอันทันสมัยเพื่อการเป็นพื้นที่สำหรับพบปะกับกลุ่มธุรกิจ สถาบันการเงิน ร้านค้า หน่วยงานรัฐบาล และอีกส่วนคือการนำความสามารถต่างๆ ที่ VISA มีเพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน อาทิ การสร้าง Tokenization จากระบบ Visa Token Service (VTS) ที่ปลอดภัยเพื่อเปลี่ยนตัวเลขหน้าบัตรพลาสติกไปชำระเงินผ่านระบบชำระเงินอย่าง Apple Pay หรือ Samsung Pay
The Building Blocks ที่จำลองโซลูชั่นในการแก้โจทย์ทางการตลาดให้กับลูกค้า ณ VISA Innovation Center
ในปี 2560 นี้ VISA จับมือกับ IBM ผสาน เทคโนโลยี cognitive และแพลตฟอร์ม IBM Watson IoT เข้ากับ ระบบชำระเงินของ VISA เพื่อใช้ในด้านการเงินกับอุปกรณ์ต่างๆ อย่าง นาฬิกา เครื่องใช้ หรือรถยนต์ VISA ยกตัวอย่างถึงการเชื่อมต่อรถยนต์กับแพลตฟอร์มของ IBM Watson IoT ทำให้รถยนต์สามารถเตือนคนขับเมื่อถึงเวลาต่อประกันหรือเปลี่ยนอะไหล่ เจ้าของรถยนต์อาจสามารถสั่งซื้ออะไหล่โดยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว ขณะที่อุปกรณ์ฟิตเนสที่นักวิ่งสวมใส่จะสามารถสื่อสารกับชิพ และแจ้งเตือนทันทีเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ และทำการสั่งซื้อได้ทันที ที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือการเปลี่ยนผ่านของเงินเพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยประเทศไทยมีความเป็นได้ในการเข้าสู่สังคมเงินสดในอนาคตอันใกล้   ภาพ: กรุงศรี คอนซูมเมอร์
คลิกเพื่ออ่าน "ไทยเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด" ฉบับเต็ม จาก Forbes Thailand ประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine