โอกาสลงทุน "ธุรกิจกัญชา" มูลค่าพุ่งแสนล้านเหรียญฯ ใน 4 ปี - Forbes Thailand

โอกาสลงทุน "ธุรกิจกัญชา" มูลค่าพุ่งแสนล้านเหรียญฯ ใน 4 ปี

เอ็มเอฟซี แนะโอกาสลงทุน ธุรกิจกัญชา คาดอีก 4 ปี มูลค่าพุ่งกว่าหนึ่งแสนล้านเหรียญฯ​ ทั่วโลก ระบุหลายประเทศเร่งผลักดันกัญชาถูกกฎหมาย นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ แนวโน้มเติบโตร้อยละ 33 ต่อปี ผู้เชี่ยวชาญเตือนความเสี่ยงด้านกฎหมาย และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์

ดร.ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ  FRM ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ได้จัดงานสัมมนา “กัญชา โอกาสการลงทุนที่มีอนาคต” ดร.ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ  FRM ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา และอนุญาตให้กัญชาถูกกฎหมายเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทำให้ ธุรกิจกัญชา มีโอกาสเติบโตสูง คาดการณ์แนวโน้มตลาดกัญชา-กัญชง ทั่วโลกจะเติบโตร้อยละ 33 ภายในปี 2025 หรืออีก 4 ปีข้างหน้าและมีมูลค่ากว่าหนึ่งแสนล้านเหรียญฯ​ จากปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญฯ “ปัจจุบันมีถึง 37 ประเทศที่อนุญาตให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจำนวนนี้รวมถึงประเทศไทยด้วย ขณะที่ยังมีธุรกิจกัญชาที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ากัญชาถูกกฎหมาย 13-15 เท่า เพราะฉะนั้นโอกาสการลงทุนในธุรกิจกัญชามีแนวโน้มเติบโตสูงมาก” ดร.ชาญวุฒิ กล่าว ก่อนหน้านี้ บลจ.เอ็มเอฟซี ได้ประกาศเปิดตัวและให้จองซื้อกองทุนเปิด MFC Global Cannabis Fund (เอ็มเอฟซี โกลบอล แคนนาบิส) หรือ ‘MCANN’ ในช่วง IPO 19 - 27 เมษายน 2564 ถือเป็นกองทุนกัญชากองแรกของประเทศไทย ที่ทางบลจ.จัดตั้งขึ้นเพื่อการเข้าไปลงทุนในตราสารทุน หน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศ และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศ มีนโยบายลงทุนในธุรกิจเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางกัญชา (Marijuana) หรือกัญชง (Hemp) ที่ถูกกฎหมาย เน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ทั้งด้านพัฒนายา (Pharmaceutical) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) เช่น Global X Cannabis ETF(POTX) เป็นต้น โดยร้อยละ 97 จะเป็นการลงทุนธุรกิจกัญชาในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ดร.ชาญวุฒิ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนธุรกิจกัญชาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์เป็นหลัก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง โดยในช่วง 1–2 ปีที่ผ่านมามี ราคากัญชาอยู่ที่ประมาณ 4 แสนบาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มราคาจะลดลงเฉลี่ยที่ 15 บาทต่อกรัมต่อปี เนื่องจากมีการผลิตมากขึ้น และมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่การทำในระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ไม่ง่าย และยังมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้หลากหลาย จึงยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง ด้าน รินรดา นรากรพิจิตร์ นักวิเคราะห์ฝ่ายตราสารทุนในประเทศ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า สำหรับในประเทศไทย ธุรกิจกัญชง กัญชาได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจนี้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สิ่งสำคัญนักลงทุนต้องพิจารณาแผนธุรกิจของบริษัทต่างๆ ว่าการขยายธุรกิจกัญชง กัญชาสร้างรายได้และกำไรให้บริษัทนั้นๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหรือ และพิจารณาราคาหุ้นประกอบว่าแพงเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับรายได้และกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รศ.ดร. วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาองค์การเภสัชด้านกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า ธุรกิจกัญชาในหลายประเทศยังมีความผันผวน ซึ่งเกิดจากข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งเรื่องการเมือง แต่จากแนวโน้มที่หลายประเทศเห็นความสำคัญและทยอยปลดล็อกให้กัญชาถูกกฎหมาย ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับกัญชามีความน่าสนใจ เพราะมีงานวิจัยจากกัญชาจำนวนมาก ที่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และในแง่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ไม่ง่ายนัก และลงทุนสูง โอกาสที่จะเกิดคู่แข่งมีไม่มากนัก สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มนำผลิตภัณฑ์จากกัญชามาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน รวมถึงการใช้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีผลด้านการรักษาโรค ขณะเดียวกันกัญชายังมีผลข้างเคียง ที่ทำให้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ซึ่งในอนาคตยังมีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาได้อีกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการแพทย์ อ่านเพิ่มเติม: SABINA จับสัญญาณยอดขายไตรมาส 2
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine