แบงก์ชาติเตือน "โควิดระลอกใหม่" ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย - Forbes Thailand

แบงก์ชาติเตือน "โควิดระลอกใหม่" ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย จับตาสถานการณ์ระบาดของ "โควิดระลอกใหม่" ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมทั้งปัญหาการว่างงานในอัตราสูง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพ.ย.-ธ.ค.ทยอยฟื้นตัว แต่ยังไม่ทั่วถึง กลุ่มยานยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนุนส่งออก

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อยู่ที่การระบาด "โควิดระลอกใหม่" ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งในประเทศต้องดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเข้มงวดมากน้อยเพียงใด จะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ แต่เท่าที่ดูตัวเลขของเดือนธันวาคมที่เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่ ทำให้กิจกรรมการเดินทางลดลง แต่ไม่ได้รับผลกระทบเท่ากับการระบาดรอบแรก

ขณะเดียวกันต้องจับตาสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ในต่างประเทศด้วย ขณะนี้หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมา หากสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้า และการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2563 ระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเดือนก่อน จากภาคบริการไม่รวมท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการจ้างงานที่แม้จะมีสัญญาณฟื้นตัวบ้าง แต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อยังอ่อนแอ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิม

ขณะที่ธุรกิจในภาคการผลิตมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าภาคอื่นๆ แต่บางกลุ่มที่ยังไม่กลับไปสู่จุดเดิมมีมุมมองต่อการฟื้นตัวที่ช้าออกไปกว่าการสำรวจรอบที่แล้ว ส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่ภาคผลิตส่วนใหญ่มองว่าธุรกิจจะสามารถกลับสู่จุดเดิมได้หลังปี 2564 ทั้งนี้ภาคธุรกิจมีการปรับรูปแบบการจ้างงานในระยะยาวมากขึ้น ส่วนใหญ่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานต่อคนมากกว่าจ้างแรงงานเพิ่ม รวมทั้งมีแนวโน้มนำระบบอัตโนมัติและเอไอมาใช้ในการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคน

 

เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว แต่ยังไม่ทั่วถึง

ชญาวดี กล่าวว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2563 เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวทยอยฟื้นตัว ที่ขยายตัวได้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากผลของมาตรการภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ กลุ่มสินค้าคงทนเริ่มกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบปี เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ขณะที่สินค้ากึ่งคงทนมีอัตราการหดตัวลดลง

“แม้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังเปราะบางสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ยังสูง รวมทั้งยังมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่” ชญาวดีกล่าว

ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงสอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

สำหรับภาคการผลิตกลับมากลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน โดยเฉพาะรถยนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานในปี 2562 ต่ำ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่กลุ่มน้ำมัน เครื่องดื่ม มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังหดตัวลงเช่นเดียวกัน

ด้านการส่งออกสินค้าหดตัว 3.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว 2.3% โดยเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในเดือนนี้ มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากขึ้นเป็น 6.5% โดยเป็นการหดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดสินค้าทุนที่หดตัวน้อยลงมากตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่หดตัวน้อยลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน

สิ่งที่น่ากังวล คือตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง โดยอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมยังอยู่ในระดับสูง และยังมีพัฒนาการที่แตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นช้าเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่น

สำหรับตลาดเงิน ตลาดทุน เริ่มเห็นสัญญาณเงินทุนไหลเข้าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะในตลาดหุ้น และพันธบัตร เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีจากผลการเลือกตั้งสหรัฐ และวัคซีนโควิด-19 ทำให้เริ่มมีเงินไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคม เงินบาทเริ่มอ่อนลง เนื่องจากเกิดการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

อ่านเพิ่มเติม: Tony Fernandes ขายหุ้น AirAsia Group ให้ Tata Sons


ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine