"เจพีมอร์แกน" นำร่องใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ S&P 500 รุกตลาดทุน DW - Forbes Thailand

"เจพีมอร์แกน" นำร่องใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ S&P 500 รุกตลาดทุน DW

เจพีมอร์แกน ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับดัชนีแสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ 500 (S&P 500 warrants) ในประเทศไทยแล้ว นับเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกที่เพิ่มโอกาสแก่นักลงทุนให้ได้ผลตอบแทนอ้างอิงกับตลาดสหรัฐอเมริกาในเวลาทำการปกติของประเทศไทย

เจพีมอร์แกนเปิดตัวใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับดัชนี S&P 500 ในประเทศไทย ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยมี คุณทศพล เกิดผล ผู้อำนวยการฝ่าย Listed Structured Products บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) หรือฝ่ายตราสารอนุพันธ์ ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาดและกรรมการผู้จัดการบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด ภากร บูรณกุล ผู้ช่วยกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด สิรินทิพย์ บุญลือ ผู้ช่วยกรรมการ ธนาคาร เจพีมอร์แกน เชส สาขากรุงเทพฯ เข้าร่วมงาน ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ รุ่น SPX41C2012U เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกด้วยมูลค่าซื้อขายรวมถึง 1.75 ล้านบาท ตราสารอนุพันธ์นี้มีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7  เมื่อสิ้นวันทำการแรกของการซื้อขาย และมีราคาเพิ่มขึ้นถึงร้อยะ 13.5  ในระยะเวลาซื้อขายข้ามคืนแรก ม.ล.ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเจพีมอร์แกน ประเทศไทย กล่าวว่า “ความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและนักลงทุนก็กำลังมองหาโอกาสในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนอยู่ตลอดเวลา การเปิดตัวของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับดัชนีแสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ 500 (S&P 500 warrants) ซึ่งเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า E-mini S&P 500 เป็นการนำเสนออีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักลงทุนได้มีโอกาสในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” S&P 500 warrants ของ เจพีมอร์แกน เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่อ้างอิงดัชนีต่างประเทศที่ออกในประเทศไทยเป็นหลักทรัพย์ที่สอง หลังจากที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์อ้างอิงดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงในเดือนมีนาคมปีนี้ เจพีมอร์แกนซึ่งเป็นบริษัทให้บริการทางการเงินระดับโลกเปิดตัวธุรกิจใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในประเทศไทยเมื่อปี 2561 และได้ดำเนินการจดทะเบียนกว่า 1,000 ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนับจากนั้นเป็นต้นมา ม.ล.ชโยทิตกล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นผู้นำในตลาดใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในประเทศไทย เราดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่หลากหลายเพื่อตอบสนองกับสภาวะตลาด และความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนที่แตกต่างกัน” ด้าน ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.กล่าวเสริมว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองมีแผนพัฒนา Derivative Warrants ให้ครอบคลุมสินค้าต่างประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกและมีสินค้าที่หลากหลายตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุนมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาเป็นผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ของ เจ.พี.มอร์แกน ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านการเงินการลงทุน จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ DW ให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของผลิตภัณฑ์ DW นี้ให้แก่ผู้ลงทุน
ทศพล เกิดผล ผู้อำนวยการฝ่าย Listed Structured Products บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) (ขวา)
ขณะที่ ทศพล เกิดผล ผู้อำนวยการฝ่าย Listed Structured Products บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) หรือฝ่ายตราสารอนุพันธ์ กล่าวภายในเสวนาด้วยว่า ปัจจุบันมีโปรดักส์ที่เป็นหุ้น SPX41 ที่เป็นทั้งขาขึ้นและหุ้นที่ทั้งขาลง ทั้งหมด 8 ตัวในปัจจุบัน โดย SPX41 นั้นมีความน่าสนใจ ด้วยเราได้คัดเลือกหุ้นในดัชนี S&P 500 ที่ประกอบด้วยหุ้น 500 ตัว โดยทั้ง 500 ตัวประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายเป็นดัชนีหุ้นที่อยู่ที่อเมริกา ซึ่งดัชนีหุ้นกลุ่มนี้จะมีกลุ่มที่น่าสนใจ อาทิ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มเฮลท์แคร์ อย่างดัชนีกลุ่มเทคโนโลยีหุ้นบางตัวไม่มีในประเทศไทย อาทิการลงทุนในหุ้น Microsoft Google Alphabet หรือ กลุ่มด้านสุขภาพ อาทิ Johnson&Johnson เป็นต้น ซึ่งหุ้นที่กลุ่มดาวเด่นของดัชนี s&P 500 และถ้าเทียบกับกลุ่ม SET 50 ไทย ส่วนใหญ่ดาวเด่นจะอยู่ในกลุ่มพลังงานเป็นหลัก จึงเป็นโอกาสอันดีในการเทรดหุ้นอเมริกา ผ่านผลิตภัณฑ์ DW จากเจพีมอร์แกน โดยผลิตภัณฑ์ DW คือตราสารทางการเงิน ที่ให้สิทธิในการซื้อ (Call DW) หรือ สิทธิในการขาย (Put DW) หลักทรัพย์อ้างอิงในอนาคต ตามราคาในการใช้สิทธิ อัตราใช้สิทธิ และวันที่ใช้สิทธิที่กำหนด โดย Call DW – สิทธิในการซื้อสินค้าอ้างอิงในอนาคต ผู้ถือ Call DW จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเมื่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ Put DW คือสิทธิในการขายสินค้าอ้างอิงในอนาคต ผู้ถือ Put DW จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเมื่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงปรับตัวลดลง เช่นกัน อ่านเพิ่มเติม: รัฐจัดโครงการ ‘Workation’ ฟื้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังโควิด