เคทีซี สร้าง New S Curve ปั้นแอปฯ MAAI เดินหน้าสินเชื่อเต็มตัว - Forbes Thailand

เคทีซี สร้าง New S Curve ปั้นแอปฯ MAAI เดินหน้าสินเชื่อเต็มตัว

เคทีซี พร้อมเดินเครื่อง หวังดันพอร์ตเกินแสนล้านบาท สร้างกำไรนิวไฮระลอกใหม่ หลังวิกฤตโควิด-19 ปักธงสองโมเดลธุรกิจขับเคลื่อนอนาคต (New S Curve) “MAAI By KTC” ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้บริการด้านรอยัลตี้แพลตฟอร์มแบบครบวงจรแก่พันธมิตรธุรกิจ ในรูปแบบของโมบายแอปพลิเคชัน และ“เคทีซี พี่เบิ้ม”

ปรับเป้าสินเชื่อสิ้นปี 2565 เป็น 11,500 ล้านบาท โดยผนึกความร่วมมือผ่านเครือข่าย “ธนาคารกรุงไทย” และกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง รุกธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกัน รวมทั้งขยายฐานสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล สร้างสิทธิประโยชน์ทางการตลาดและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี เปิดเผยว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การเปิดประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้เศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้น เป็นโอกาสที่จะผลักดันธุรกิจให้เติบโต และมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสถิติใหม่ของการทำกำไรสูงสุดมากกว่า 6 พันล้านบาทกับพอร์ตสินเชื่อที่เกินแสนล้านบาท ด้วยสองโมเดลธุรกิจใหม่รวมทั้งเดินหน้าธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อขยายฐานสมาชิกกลุ่มใหม่และดูแลคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ ตลอดจนคัดสรรสิทธิประโยชน์ตอบสนองทุกความต้องการของสมาชิกกว่า 3.3 ล้านบัญชี “สองโมเดลธุรกิจที่จะเป็นเรือธงขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถสร้าง New S Curve และมีรายได้เติบโตอย่างยั่งยืนคือ แพลตฟอร์ม MAAI BY KTC ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความแข็งแกร่งในการทำระบบคะแนนสะสม และความเชี่ยวชาญด้านการตลาดในการบริหารคะแนน KTC FOREVER ที่ตอบโจทย์และครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์” MAAI BY KTC เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้บริการกับพันธมิตรธุรกิจที่มีความต้องการใช้รอยัลตี้แพลตฟอร์มแบบครบวงจร โดยมีโซลูชันที่สำคัญคือ หนึ่ง-ระบบบริหารจัดการสมาชิก สอง-ระบบบริหารจัดการคะแนน ซึ่งไม่ว่าเป็นคะแนนของพันธมิตรเอง หรือจะใช้คะแนน MAAI POINT ในการทำ Loyalty Program หรือใช้เป็นคะแนนกลางในการแลกเปลี่ยนกับคะแนนอื่นๆ ในกลุ่มพันธมิตรบน MAAI Platform สาม-ระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิก ไม่ว่าจะแลกเป็น E-Coupon หรือแลกสินค้าได้ที่ร้านค้าพันธมิตรทั่วไป ซึ่งจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 โดยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ เพื่อใช้งานผ่าน Apple Store, Play Store และ Huawei Store “โมเดลธุรกิจถัดมาคือสินเชื่อมีหลักประกัน “เคทีซี พี่เบิ้ม” โดยจะเร่งขยายฐานสมาชิกเพื่อผลักดันให้พอร์ตโตแบบก้าวกระโดดและบรรลุเป้าสินเชื่อที่ 11,500 ล้านบาทในปี 2565 เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่แบบเชิงรุก ใช้ทีมขายให้บริการสินเชื่อถึงบ้านของลูกค้า ผูกไปกับช่องทางของเครือข่ายธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศกว่า 900 สาขา และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) 11 สาขา ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักและเน้นสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครบทุกความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นบัตรกดเงินสด “เคทีซี พี่เบิ้ม” ซึ่งเป็นครั้งแรกของสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ในรูปแบบของบัตรกดเงินสด ที่ลูกค้าสามารถรูด-โอน-กด-ผ่อน ผ่านบัตรได้ทันที ครอบคลุมถึงธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (Hire Purchase) ภายใต้ใบอนุญาตของกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ซึ่งเคทีซีถือหุ้นอยู่ 75.05 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมุ่งเติมเต็มช่องว่างในตลาด ด้วยจุดแข็งที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ด้วยวงเงินใหญ่ที่ขยายถึง 1 ล้านบาท อนุมัติใน 2 ชั่วโมง สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเคทีซีในปี 2565 จะมุ่งเน้นการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ที่มีคุณภาพดี ขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่และรักษาฐานสมาชิกปัจจุบัน โดยคาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2565 จะเติบโตร้อยละ 10 จากปี 2564 หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท ขณะที่กลยุทธ์ของธุรกิจสินเชื่อบุคคล จะมุ่งขยายฐานสมาชิกใหม่ในกลุ่มที่มีศักยภาพ ด้วยการนำเสนอสินเชื่อบัตรกดเงินสด KTC PROUD กับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและมีฐานรายได้สูงขึ้น ด้วยแคมเปญแบ่งเบาภาระสมาชิกลดดอกเบี้ยเหลือเพียงร้อยละ 0.93  ต่อเดือน เพิ่มเวลาผ่อนให้นานถึง 60 งวด และสามารถสมัครขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน ในรูปแบบของใบสมัครออนไลน์ (Electronic Application) ผ่านระบบยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล (Electronic Know Your Customer หรือ E-KYC) สำหรับฐานสมาชิกสินเชื่อบุคคลซึ่งปัจจุบันมีกว่า 7 แสนราย บริษัทมุ่งผูกใจระยะยาวด้วยแคมเปญแบ่งเบาภาระสมาชิกต่อเนื่อง ทั้งโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยงที่เพิ่มรางวัลมากขึ้นเป็น 600 รางวัล เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสรับสิทธิ์เคลียร์หนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ และ 10 เปอร์เซ็นต์ ตลอดปี รวมทั้งพัฒนาการโอนเงินออนไลน์ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ โดยคาดว่ายอดลูกหนี้ในปี 2565 จะเติบโตร้อยละ 7 จากปี 2564 “บริษัทฯ จะมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น และคาดว่าสิ้นปี 2565 จะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ 20 ต่อ 80 และต้นทุนการเงินจะใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ทั้งนี้ จะมีการระดมเงินกู้ยืมระยะยาวในจำนวนไม่เกิน 12,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2565 จำนวน 9,500 ล้านบาท และสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย กล่าวในตอนท้าย อ่านเพิ่มเติม: ทิสโก้แนะซื้อหุ้นเชิงคุณค่า-ปันผลครึ่งปีแรก
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine