หอการค้าญี่ปุ่น มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังกระเตื้อง - Forbes Thailand

หอการค้าญี่ปุ่น มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังกระเตื้อง

หอการค้าญี่ปุ่น เผยดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจบริษัทญี่ปุ่นในไทยครึ่งปีแรกติดลบร้อยละ 69 สูงสุดในรอบ 35 ปี ครึ่งปีหลังแนวโน้มดี มาตรการรองรับผลกระทบโควิด-19 ดี ระบุหลายบริษัทสนใจย้ายฐานการลงทุนมาไทย แนะรัฐบาลปรับปรุงสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุน

หอการค้าญี่ปุ่น - กรุงเทพฯ (JCCB) ได้ทำการสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2563 โดยมีบริษัทตอบแบบสอบถามรวม 631 ราย พบว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (DI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปรับตัวลดลงติดลบร้อยละ 69 นับเป็นค่าดัชนีที่ติดลบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 นับตั้งแต่ดำเนินการสำรวจในปี 2514 โดยค่าดัชนีติดลบสูงสุดเกิดขึ้นในปี 2528 ที่ค่าดัชนีติดลบร้อยละ 76 ในครึ่งปีแรก และติดลบที่91 ในครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นผลจากการทำ Plaza Agreement มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีเศรษฐกิจติดลบเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยครึ่งแรกติดลบร้อยละ 19 และครึ่งหลังติดลบร้อยละ 24 ขณะที่ผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2563 อยู่ที่ลบร้อยละ 44 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังถือว่าอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบาก Atsushi Taketani ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ในฐานประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ กล่าวว่า ผลสำรวจที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ได้เห็นตัวเลขที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นกับผลสำรวจทั่วโลก สำหรับประเทศไทยแนวโน้มเศรษฐกิจที่สำรวจในเดือนมิถุนายน มีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเมษายน ที่ทุกอย่างหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง
หอการค้าญี่ปุ่น
Atsushi Taketani ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร)
นอกจากนี้ ผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจในด้านต่างๆ มีดังนี้ ในด้านการลงทุนโรงงานและเครื่องจักรร้อยละ 21 บอกว่าจะลงทุนเพิ่มร้อยละ 16 ลงทุนคงที่ และร้อยละ 53 คาดว่าจะลงทุนลดลง ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับมุมมองด้านการส่งออกที่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 คงที่ร้อยละ 31 และส่งออกลดลงร้อยละ 53 โดยตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ อันดับ 1 ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย และเมียนมา ขณะที่ผลสำรวจด้านผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้รับผลกระทบเชิงลบด้านยอดขาย ตั้งแต่ร้อยละ 20-50 คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 48  กระทบยอดขายตั้งแต่ร้อยละ 5-20 สัดส่วนร้อยละ 27 และกระทบยอดขายตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นปี มีสัดส่วนร้อยละ 9 โดยสาเหตุที่ทำให้ยอดขายลดลงมากที่สุดมาจากการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศร้อยละ 77 รองลงมา คือการสูญเสียโอกาสในการเจรจาธุรกิจร้อยละ 68 และข้อจำกัดในการเดินทางเข้าเมืองร้อยละ 65 อย่างไรก็ตาม สำหรับผลสำรวจแนวโน้มการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในอนาคตร้อยละ 60 ยังประกอบกิจการและขยายกิจการต่อไปร้อยละ 60 ที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่ชัดเจนร้อยละ 34 และที่คาดว่าจะลดขนาดกิจการมีเพียงร้อยละ 7   กระตุ้นไทยปรับเงื่อนไขเอื้อลงทุน อัทสึชิ กล่าวว่า จากผลสำรวจของบริษัทญี่ปุ่นที่ประกอบกิจการในประเทศต่างๆ มีแนวโน้มปรับแผนย้ายฐานการผลิต หลังจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่ตั้งกิจการในประเทศจีน ซึ่งผลสำรวจตั้งแต่ปี 2562 บริษัทเริ่มมีแผนย้ายฐานผลิตมายังประเทศในอาเซียนมากขึ้น โดยไทยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 และในปีนี้มีหลายบริษัทได้เข้ามาขอคำแนะนำ เพื่อย้ายฐานผลิตมายังประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทยควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ในเอื้อต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบศุลกากรและพิธีการศุลกากร การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์ รวมถึงการลดขั้นตอนใบอนุญาตทำงาน วีซ่า และภาษีนิติบุคคล “ไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการมีซัพพลายเชนที่ดี พร้อมรองรับการลงทุน หากสามารถแก้ข้อจำกัดในด้านต่างๆ ได้ จะทำให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้ ขณะที่หากเทียบกับเวียดนาม ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านค่าแรงที่ต่ำกว่า ในอนาคตด้วยต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ จะทำให้เวียดนามสามารถพัฒนาระบบซัพพลายเชนที่ดีได้เช่นเดียวกัน ทุกประเทศแข่งขันกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน” Atsushi Taketani กล่าว อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย เห็นว่าไทยมีการปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการลงทุนที่ดี โดยเฉพาะมาตรการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 รองลงมา คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามลำดับ อ่านเพิ่มเติม: เฟรเซอร์สฯ พัฒนา “ศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะ” ให้ F&N
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine