หมดยุคต่อคิว-เเลกเหรียญ-หยอดตู้ Rabbit LINE Pay เปิดบริการชำระค่าโดยสาร BTS หนุนไทยเป็นสังคมไร้เงินสด - Forbes Thailand

หมดยุคต่อคิว-เเลกเหรียญ-หยอดตู้ Rabbit LINE Pay เปิดบริการชำระค่าโดยสาร BTS หนุนไทยเป็นสังคมไร้เงินสด

Rabbit LINE Pay จับมือบัตร Rabbit และ BTS เปิดบริการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าผ่านสมาร์ทโฟนได้แล้ววันนี้ เน้นง่าย สะดวก ปลอดภัย ตั้งเป้าดันยอดจำนวนบัตรที่ผูกใช้บริการ 5เเสนใบ ภายในสิ้นปี 2018 เผยยอดผู้ใช้ Rabbit LINE Pay ทะลุ 5 ล้านคน อัตราเติบโต 50% หวังเข้าตลาดหุ้นได้ 2-3ปีนี้

Jin Woo Lee ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Rabbit LINE Pay กล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด Rabbit LINE Pay ผู้นำด้านบริการ Mobile Payment จับมือบัตร Rabbit และรถไฟฟ้า BTS ร่วมกันพัฒนาบริการให้กับผู้ใช้ โดยวันนี้ได้เปิดตัวบริการชำระค่าโดยสาร BTS ที่สะดวกและปลอดภัย โดยผู้ใช้สามารถทำเองได้ในมือถือ ไม่ว่าจะเป็นการเติมเงิน ซื้อเที่ยวเดินทาง เช็กยอดเงินคงเหลือ และแสดงประวัติการเดินทาง พร้อมทั้งเลือกวิธีการชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง  ด้วยการตัดค่าโดยสารจากเงินใน e-wallet ของ Rabbit LINE Pay หรือตัดจากบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตของผู้ใช้บริการที่ผูกไว้กับ Rabbit LINE Pay  โดยตั้งเป้าจำนวนบัตรที่ผูกใช้บริการ 5 เเสนใบ ภายในสิ้นปีนี้ “เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในยุคปัจจุบันที่ต้องการทำอะไรทุกอย่างให้ได้ในสมาร์ทโฟน Rabbit LINE Pay จึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มและบริการใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยต้องคำนึงถึงความสะดวก ใช้ง่าย ไม่ต้องรอคิวและทำอย่างไรให้ผู้ใช้วางใจว่าปลอดภัยกว่าการใช้เงินสด” นอกจากนี้ บริการชำระค่าบริการรถไฟฟ้า BTS ของ Rabbit LINE Pay ได้แก้ปัญหาของผู้ใช้จากแต่เดิมที่ไม่สามารถทราบได้ว่ายอดเงินในบัตรคงเหลือเท่าใด ให้มีการแจ้งเตือนสำหรับการหักค่าโดยสาร หรือการซื้อเที่ยวเดินทางผ่านทาง LINE รวมถึงสามารถตรวจสอบประวัติเส้นทางการเดินทางย้อนหลัง และการแจ้งเตือนกรณีเงินคงเหลือไม่เพียงพอต่อการชำระค่าโดยสาร เป็นการสร้างความมั่นใจ โปร่งใส และตรวจสอบได้  สำหรับกรณีบัตรหาย Jin Woo Lee  อธิบายว่าหากเป็นสมัยก่อนเมื่อบัตรหาย อาจเงินในบัตรหายไปด้วย แต่ด้วยบริการ Rabbit LINE Pay หากผู้ใช้ทำการลงทะเบียนผูกบัตรไว้แล้วก็สามารถสั่งยกเลิกบัตรได้ทันที โดยที่ยอดเงินยังคงเหลือตามเดิม เพราะข้อมูลทั้งหมดถูกบันทึกไว้ที่ LINE แล้ว และไม่เพียงแต่กรณีบัตรหายเท่านั้น หากผู้ใช้มือถือหายก็สามารถรักษายอดเงินใน Rabbit LINE Pay ไว้ได้เพียงเปิดใช้มือถือเครื่องใหม่และเชื่อมต่อ  LINE ID ก็จะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ “ปัจจุบันคนไทยใช้แอพพลิเคชั่น LINE กว่า 45ล้านคน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะขยายฐานลูกค้าให้หันมา ใช้ mobile payment มากขึ้น” โดยข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2561 Rabbit LINE Pay มีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ที่ 5 ล้านคน อัตราการเติบโตของผู้ใช้สูงถึง 50% ในเวลาไม่ถึง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีจำนวนร้านค้าที่รับชำระด้วย Rabbit LINE Pay มากกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ  และมีแผนการขยายให้ถึง 60,000 ร้านค้า ให้ได้ภายในสิ้นปี 2018 “หากอัตราการเติบโตประสบผลสำเร็จเช่นนี้ต่อไป ก็มีหวังที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” Jin Woo Lee กล่าว ทั้งนี้ หลังจากเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Rabbit LINE Pay ได้นำร่องเปิดให้บริการผูกบัตรกับบัตร Rabbit ทั้งสิ้น 20 บูธ บนสถานี BTS 15 สถานี (ให้บริการจนถึง 30 พ.ย. 2561 ) ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้บริการของลูกค้า วันนี้จึงเปิดให้ลูกค้าสามารถผูกใช้บริการได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วบนสถานีบีทีเอสได้ “ทุกสถานี” อย่างเป็นทางการ
Jin Woo Lee ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Rabbit LINE Pay (ซ้าย), สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (กลาง) ,รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเต็ม จำกัด (ขวา)
เมื่อถามถึงกลยุทธ์ในปีหน้า ซีอีโอ Rabbit LINE Pay เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2019 จะมีการขยายขอบเขตการให้บริการโดยจะเปิดให้มีบริการกับบัตรร่วม “ธนาคารกรุงเทพ” ได้ พร้อมเปิด Double Bonus Campaign เติมเท่าไหร่เพิ่มให้สองเท่า รวมถึงจะขยายการผูกบัตร Rabbit LINE Pay ให้จ่ายเงินให้บัตรมากกว่า 1 ใบได้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มครอบครัว เช่น ให้ผู้ปกครองสามารถจ่ายค่าบริการให้ลูกหลานได้ เป็นต้น “ส่วนสำคัญที่สุดของธุรกิจการชำระเงินทางมือถือ คือต้องหาช่องทางการชำระเงินให้มากที่สุด จึงต้องมีการร่วมมือกับเครือข่ายโทรศัพท์อย่าง AIS และกลุ่มธนาคาร รวมถึงพาร์ทเนอร์ใหญ่ๆ ที่เป็นบริษัทท้องถิ่นในไทย เพื่อขยายการบริการให้ครอบคลุมคนไทยมากที่สุด ให้สามารถจ่ายเงินทางมือถือได้ทุกร้าน ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น cashless society” Jin Woo Lee  ระบุ   โดยบริษัท มีแผนการจะขยายการเติมเงินเข้า e-wallet ของ Rabbit LINE Pay ผ่านการแตะบัตร Rabbit ที่ผูกใช้บริการ ได้ตามจุดเติมเงินต่างๆ เช่น ห้องจำหน่ายตั๋วบนสถานี BTS , ร้าน McDonald's, Kerry Express เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการที่นิยมการแตะบัตร เพิ่มจากการใช้ MyCode ของ Rabbit LINE Pay ทั้งนี้ บัตร Rabbit เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 2012 โดยเริ่มจากการเป็นบัตรโดยสารรถไฟฟ้า BTS จากนั้นพัฒนาให้สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าต่างๆได้ ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิทมากกว่า 10 ล้านใบ   Forbes Fact 
  • Rabbit LINE Pay เดิมเป็นบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 50/50 ระหว่างบริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด กับ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด และได้เพิ่มทุน โดยมีบริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด (mPay) ที่เป็นบริษัทย่อยของ AIS มาร่วมทุน ทำให้สัดส่วนร่วมทุนกลายเป็น 33.33% เท่ากันทั้ง 3 บริษัท
  • BTS เป็นรถไฟฟ้าสายแรกของไทย เปิดให้บริการต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 8 แสนเที่ยวคนต่อวัน ไต่ระดับจากเปิดบริการวันแรกจาก 1.5 แสนเที่ยวคนจนมาแตะระดับ 7-8 แสนเที่ยวคน โดยสถานีที่มีผู้ใช้บริการมากสุดคือ สถานีสยาม,สถานีอโศกเเละสถานีหมอชิต ตามลำดับ