สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทย ปี 64 เหลือร้อยละ 1.5 – 2.5 หลังไตรมาสแรก เศรษฐกิจไทยเจอพิษโควิดระลอก 3 ติดลบร้อยละ 2.6 แนะรัฐเร่งฉีดวัคซีนพยุงภาคการส่งออก ปลดล็อก เพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงนักลงทุน หลายสำนักงานมองแนวโน้มดีกว่าที่คาด
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2564 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (จีดีพี) ลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 ที่ลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาส 1/2564 มีดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวดีขึ้น เช่น การส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 3.2 การลงทุน ขยายตัวร้อยละ 7.3 การอุปโภคภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.1 ขณะที่ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การก่อสร้าง และภาคการเงิน มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีเศรษฐกิจที่ติดลบ ได้แก่ ส่งออกภาคบริการ คือการท่องเที่ยว ลดลงร้อยละ 63.5 โดยสาขาที่พักและโรงแรมลดลงร้อยละ 35 สาขาขนส่งลดลงร้อยละ 17.7 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ใหม่ เป็นขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 หรือมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2 ภายใต้สมมติฐานที่ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ภายในเดือนมิถุนายน จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.5 – 3.5 เนื่องจากการระบาดของโควิดระลอก 3 ส่งผลให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวต้องใช้เวลานานขึ้น ดนุชา กล่าวว่า ในปี 2564 ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐและจีน ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6 และ 8.7 ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.8 ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยสภาพัฒน์ได้ปรับเพิ่มการขยายตัวของการส่งออกที่ร้อยละ 10.3 หนุนเอกชนลงทุน-ส่งออก สำหรับปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดและความล่าช้าของการกระจายวัคซีน ส่งผลต่อความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 5 แสนคนในปีนี้ และมีรายได้อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันฐานะการเงินของครัวเรือนและภาคธุรกิจอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ร้อยละ 89.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2563 ที่ร้อยละ 86.6 ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 51.8 ดนุชา กล่าวว่า แนวทางการบริหารเศรษฐกิจ ในปี 2564 ภาครัฐต้องเร่งป้องกันการแพร่ระบาด และกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเพียงพอ โดยเฉพาะกับประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งมุ่งกระจายวัคซีนไปยังภาคส่งออก เป็นฐานผลิตสำคัญและเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ต้องเร่งปกป้องฐานผลิตของประเทศ รวมถึงการขยายตลาดเชิงรุกในประเทศเป้าหมาย และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เร่งอนุมัติบัตรส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น ดิจิทัล รถยนต์ไฟฟ้า ไบโอเทคโนโลยี การแพทย์ เป็นต้น และขจัดอุปสรรคด้านการลงทุนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้ได้ร้อยละ 92.5 พรบ.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้ร้อยละ 80 รวมทั้งเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการการเงินตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งโครงการโกดังพักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินต้องเร่งปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ รวมถึงรักษาระดับการจ้างงาน และหามาตรการจ้างแรงงานใหม่ด้วย “ขณะเดียวกัน ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันฉีดวัคซีน เพื่อการฟื้นตัวในระยะต่อไป โดยเฉพาะต้องฟังความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้เร็วขึ้น ควบคุ่กับมาตรการป้องกันการระบาดอย่างเคร่งครัด ช่วยให้ประเทศเดินหน้าฝ่าวิกฤตต่อไปได้” ดนุชา กล่าว มองจีดีพีดีกว่าที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2564 หดตัวร้อยละ 2.6 น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ลดลงร้อยละ 3.3 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง โครงการ ม.33 เรารักกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้อัตราการบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้าน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าการระบาดระลอก 3 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงในไตรมาส 2/2564 และจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มซบเซา และสร้างแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกกว่าเดิม ทั้งการปิดกิจการและการเลิกจ้างแรงงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตในระยะข้างหน้า โดย EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 2 โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการควบคุมการระบาดระลอก 3 และการกระจายวัคซีน ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวถึงร้อยละ 4.4 หากการกระจายวัคซีนสามารถทำได้วันละ 3 แสนโดสต่อวัน และมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มได้ตามเป้าหมาย 150 ล้านโดสภายในปี 2565 ขณะที่คาดการณ์จีดีพีในปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 2.2 อ่านเพิ่มเติม: พฤกษา มองอสังหาฯ โตสวนโควิดไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine