ไทยยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลัง "สภาพัฒน์" ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ติดลบ 12.2% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี หลายสำนักต่างทยอยปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยลง ห่วงหนี้ครัวเรือน ว่างงาน ส่งออกไม่ฟื้น จากปัญหาระหว่างสหรัฐกับจีน
ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.2 รวมครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9 ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบทำให้เศรษฐกิจและการค้าของโลกชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการส่งออก ที่เป็นสัดส่วนหลักของเศรษฐกิจไทย จึงได้ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบ 7.8 – (-7.3)% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 6 – (-5)% ในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะดิ่งลึกที่สุด จากมาตรการล็อคดาวน์เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลัก ลดลงร้อยละ 70 ในไตรมาสที่ 2 กลุ่มที่พัก โรงแรมและบริการร้านอาหารติดลบร้อยละ 50.2 การส่งออกสินค้าติดลบที่ร้อยละ 28.3 ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงร้อยละ 6.6 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 8 โดยการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงร้อยละ 15 การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ทั้งนี้ สภาพัฒน์จึงได้ปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการจะติดลบร้อยละ 20.9 จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบที่ 7.3 เฉพาะการส่งออกสินค้าจะลบร้อยละ 10 จากเดิมคาดว่าจะลบร้อยละ 8 การลงทุนภาคเอกชนติดลบที่ร้อยละ 10.2 จากเดิมติดลบที่ร้อยละ 4.2 การบริโภคภาคเอกชนติดลบที่ร้อยละ 3.1 จากเดิมติดลบที่ร้อยละ 1.7 มีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่คาดว่าจะขยายตัวคือการลงทุนภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่น่ากังวล คืออัตราการจ้างงานที่ลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้น 7.5 แสนคน ถือเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 11 ปี ปัจจุบันมีจำนวนผู้ว่างงานสะสมกว่า 2 ล้านราย รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ในไตรมาสนี้ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 80.1 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 4 ปี และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท สภาพัฒน์ยังประเมินปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ การระบาดรอบสองของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการชุมนุมทางการเมืองที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งภาครัฐต้องเร่งติดตามนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และแรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเทียวและบริการ รวมทั้งการขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ และเตรียมการรองรับการระบาดรอบสองและความยืดเยื้อของโควิด-19 มองเศรษฐกิจไทยหดตัวน้อยกว่าที่คาด ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ 12.2 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ 9.7 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงในเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ และเมื่อเทียบกับประมาณการล่าสุดของ ธปท. ในเดือนมิถุนายน 2563 พบว่าหดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ จากการบริโภคภาคเอกชนและการสะสมสินค้าคงคลังเป็นสำคัญ แต่ในภาพรวมถือว่าไม่ผิดจากที่คาดมากนัก ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 และจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากและต้องการแรงสนับสนุนด้านความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการจ้างงานและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น จึงต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการการเงินการคลังที่อาจออกมาเพิ่มเติม โดยธปท. จะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนกันยายน 2563 ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวร้อยละ 12.2 น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะติดลบระหว่างร้อยละ 13 ถึง 17 จากอานิสสงส์การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือนในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” รวมทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุน ทำให้ภาคก่อสร้างยังขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะหดตัวลึกที่สุดในไตรมาสนี้ และทยอยหดตัวน้อยลงในช่วงที่เหลือของปี อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนแม้จะมีความคืบหน้า แต่คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการผลิตออกมาใช้อย่างกว้างขวางได้ รวมทั้งเงินบาที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะกดดันภาคส่งออกของไทย จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6 ทั้งนี้ ต้องติดตามมาตรการดูแลเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะเน้นช่วยเหลือเรื่องการจ้างงาน การดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายเล็ก จะได้ผลมากน้อยเพียงใด เพื่อจะนำไปประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2020 ที่หดตัวติดลบร้อยละ 12.2 นับเป็นการหดตัวสูงใกล้เคียงกับช่วง ไตรมาส 2 ของปี 1998 ที่ไทยประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง (ติดลบร้อยละ 12.5) หรือเป็นการหดตัวมากสุดในรอบ 22 ปี สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ในครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยหดตัวที่ติดลบร้อยละ 6.9 ขณะที่การหดตัวแบบเทียบไตรมาสต่อไตรมาสแบบปรับฤดูกาล (%QoQ) พบว่ามีการหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส โดยในไตรมาส 2/2020 เศรษฐกิจไทยหดตัวติดลบมากถึงร้อยละ 9.7 ในช่วงทีเหลือของปี EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก โดยหากพิจารณาเครื่องชี้เร็วของ Google Mobility Index ในเดือนกรกฎาคม พบว่าเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ช้าลงในช่วงหลัง (stalling economic recovery) เช่นเดียวกับข้อมูลด้านจำนวนประกาศรับสมัครงานของ JobsDB.com ที่ให้ภาพสอดคล้องกันว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม จำนวนประกาศรับสมัครงานเริ่มทรงตัวหลังจากที่มีการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด สำหรับในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญอุปสรรคและมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ได้แก่- ภาคการท่องเที่ยว จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่มีแนวนโยบายชัดเจนว่าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศเมื่อใด ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบต่อเนื่อง
- ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก โดยล่าสุดหลายประเทศเริ่มมีการกลับมาระบาดและต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดอีกครั้ง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทย
- ความเสี่ยงด้านการปิดกิจการและการว่างงาน โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจมีหลายธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ขาดรายได้จนกระทั่งไม่สามารถจ่ายต้นทุนคงที่ได้ จึงทำให้ต้องมีการปิดกิจการ และปลดคนออก การว่างงานจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก
- ความไม่แน่นอนของการต่ออายุมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุลง (policy cliff) มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาครัฐที่จะเริ่มหมดไปในช่วงเดือนกรกฎาคม หากมาตรการเหล่านี้ไม่ได้รับการต่ออายุ หรือต่ออายุในขนาดที่เล็กลง ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงหนึ่งด้านต่ำต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine