สภาพัฒน์ คาดจีดีพีปี64 ขยายตัว 2.5-3.5% - Forbes Thailand

สภาพัฒน์ คาดจีดีพีปี64 ขยายตัว 2.5-3.5%

สภาพัฒน์ เผยตัวเลขจีดีพีปี 2563 ติดลบ 6.1% น้อยกว่าที่คาด ตัวเลขไตรมาส 4 ส่งสัญญาณฟื้นตัว ตั้งเป้ากรอบจีดีพีปี 64 อยู่ที่ 2.5 – 3.5% เศรษฐกิจโลก การค้า การลงทุนฟื้นตัว แนะภาครัฐเร่งคุมสถานการณ์โควิดระลอกใหม่จบไตรมาสแรก ส่งออก ท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2563 ลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ขยายตัว 2.3% ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 15.7 ล้านล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 225,913.8 บาทต่อคนต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -0.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.3% ของจีดีพี ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า จีดีพีปี 2563 ที่ติดลบ 6.1% ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม จีดีพีในไตรมาส 4 ปี 2563 ขยายตัวได้ 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนให้เห็นการขยายตัวของการอุปโภค-บริโภคของภาครัฐและเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 ติดลบ 0.9% ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ติดลบ6.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้จะสะดุดบ้างในช่วง 10 วันสุดท้ายของปี 2563 เนื่องจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ขณะที่การบริโภคภาครัฐยังขยายตัวได้ ในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนมีแนวโน้มดีขึ้น   คาดจีดีพีปี 64 ขยายตัว 2.5-3.5% สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 สภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5.8% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 2% และ 5.7% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1 – 2% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของจีดีพี ทั้งนี้ อัตราการขยายตัว 2.5-3.5% ของจีดีพี เป็นการปรับลดคาดารณ์ลง จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวในกรอบ 3.5-4.5% เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรก รวมทั้งได้ปรับลดคาการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาในไตรมาส 4 ปีนี้ อยู่ที่ 3.2 ล้านคน จากเดิมคาด 5 ล้านคน ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดและป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในประเทศ การจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึง เพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแหล่งท่องเที่ยว การรักษาบรรยากาศการเมืองในประเทศ และขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การใช้จ่าย ลงทุนภาครัฐ เอกชน และส่งเสริมการส่งออก   ธปท.มองแนวโน้มดีกว่าที่คาด ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2563 หดตัวที่ 4.2% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทำให้ทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัว 6.1% ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบสองทศวรรษ แต่ยังดีกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ทั้งในรายงานนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. 63 และในการประชุม กนง. ในเดือน ก.พ 64 ที่ผ่านมา
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ดีกว่าคาดมาจากการสะสมสินค้าคงคลังที่เร่งขึ้นมากตามผลผลิตเกษตรและเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่สามารถกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยเนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัว สำหรับปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปี แต่คาดว่าผลกระทบโดยรวมจะน้อยกว่าการแพร่ระบาดในระลอกแรก เนื่องจากมาตรการเข้มงวดน้อยกว่าและบังคับใช้เฉพาะพื้นที่ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการซ้ำเติมบางภาคเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น ทำให้การฟื้นตัวมีความแตกต่าง ผลกระทบต่อบางกลุ่มธุรกิจและแรงงานจึงควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม “ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนอีกมาก ทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังนั้น โดยรวมเศรษฐกิจไทยจึงยังต้องการมาตรการที่ตรงจุด เพียงพอ และต่อเนื่องเพื่อประคับประคองการฟื้นตัว โดยธปท. จะประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมีนาคม 2564” ชญาวดีกล่าว   กสิกร-SCB มองปัจจัยเสี่ยงท่องเที่ยว ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 2.6% (กรอบประมาณการ 0 – 4.5%) โดยปัจจัยเรื่องวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในการจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ รวมถึงประสิทธผลของวัคซีนที่ต้องติดตาม หากประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันนี้แล้ว มีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนที่ไทยได้รับอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในปี 2564 จะทำให้ตัวเลขจีดีพีมีแนวโน้มลดลงไปที่กรอบล่าง นอกจากนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาระของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องติดตามมาตรการภาครัฐที่จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแพคเกจในการดูแลภาคการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทั้งซัพพลายเชน รวมถึงโครงการ Asset Warehousing ที่มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังมีความเสี่ยงหลายด้าน ประมาณการล่าสุด EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 2.2% เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และมีข้อจำกัดอยู่ที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 3.7 ล้านคน และจากการเกิดระบาดรอบใหม่จะไปซ้ำเติมเศรษฐกิจ ทั้งการปิดกิจการและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม EIC จะประเมินสถานการณ์อีกครั้งในเดือนมี.ค. ซึ่งต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดรอบใหม่ ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทย การผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ปัญหาการเมืองในประเทศ ภัยแล้ง รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม: กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผย 4 กลยุทธ์ปี 64 ฝ่าโควิดด้วยเกมธุรกิจจากดิจิทัล