ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% พิษสงครามการค้ากระทบส่งออก - Forbes Thailand

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% พิษสงครามการค้ากระทบส่งออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 2.8% จาก 3.1% ขณะที่ภาคส่งออกปีนี้ติดลบ 1% ปีหน้าติดลบเพิ่มพิษปัจจัยภายนอก ชี้ชิม ช้อป ใช้หนุนจีดีพีได้ 0.02%

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิม 3% โดยสาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายนอกและการรับรู้จีดีพีในช่วงครึ่งปีแรก ที่ฉุดภาพรวมทั้งปีให้ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน

การปรับประมาณการลดลงครั้งนี้มาจากตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้าได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยใน 10 อันดับแรกของสินค้าส่งออกไทย สินค้าเดียวที่ยังส่งออกเป็นบวกคืออัญมณี นอกนั้นติดลบหมด ซึ่งสะท้อนว่าผลกระทบได้กระจายออกเป็นวงกว้าง

ขณะที่ตลาดส่งออกหลักๆ ของไทยก็หดตัวแทบทุกตลาดยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ยังสามารถส่งออกไปทดแทนตลาดจีนได้บ้าง โดย 8 เดือนแรกการส่งออกติดลบไปแล้ว 2.2% จึงส่งผลให้เราปรับตัวเลขการส่งออกลงมาเป็นหดตัว 1% จากเดิมที่ประเมินไว้ 0%”

ณัฐพรกล่าวว่า การประมาณการครั้งนี้อาศัยภาพรวมเศรษฐกิจของช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น 4 เดือนที่เหลือหลังจากนี้สถานการณ์คงไม่ต่างกันมากนัก ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างชิม ช้อป ใช้ที่อาจไม่เกิดการใช้เงินเต็มวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ผลกระทบต่อจีดีพีอาจต้องประเมินจากการใช้เงินจับจ่ายของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิว่าได้ซื้อสินค้านอกเหนือจากของใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่ โดยมองว่าโครงการนี้ช่วยหนุนจีดีพีได้ราว 0.02% เนื่องจากช่วงระยะเวลาโครงการที่สั้นและเม็ดเงินไม่ได้สูงมากนัก

 

Brexit ไม่กระทบไทยมากนัก

ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงการออกจากสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ว่า มองว่าอังกฤษน่าจะออกจากอียูโดยที่ไม่มีข้อตกลง หรือ No Deal และมีความเป็นได้มากว่าจะ No Deal ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

ตอนนี้บริษัทใหญ่ๆ ต่างเริ่มเตรียมตัวต่อกรณีนี้แล้ว หากเป็นแบบ No Deal เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบแน่นอนคือการขนส่งผ่านช่องแคบที่ต้องมีต้นทุนการขนส่งเพิ่มมากขึ้น รวมถึงภาษีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดร.ศิวัสน์มองว่า แม้อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปแบบ No Deal แต่ก็ยังคงมีปัญหายืดเยื้อในเรื่องพรมแดนที่เกาะไอร์แลนด์ ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจทำให้การเจราจาขอใช้นโยบายการค้าเสรีของอังกฤษไม่ได้ผลเท่าใดนัก

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Brexit มากที่สุดคงเป็นอังกฤษ โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติที่ต้องการใช้อังกฤษเป็นฐานการส่งสินค้าเข้าอียู ซึ่งทำให้เราเริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากอังกฤษหรือไม่ลงทุนเพิ่มซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับอังกฤษ นอกจากนี้ หากในอนาคตเงินปอนด์มีความผันผวน หรือกรณีต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าจากอียู จะส่งผลให้อังกฤษประสบภาวะเงินเฟ้อ และมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษในปีหน้าจะเผชิญกับภาวะถดถอย

ขณะที่ประเทศไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากการ Brexit มากนัก เนื่องจากอังกฤษเป็นตลาดส่งออกของไทยในสัดส่วน 2% และซัพพลายเชนของไทยกับยุโรปค่อนข้างแยกกัน แต่ที่ต้องระวังคือการส่งออกสินค้าประเภทอาหาร โดยเฉพาะอาหารสดซึ่งต้องผ่านท่าเรือที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของระยะเวลาการขนส่ง และค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น

 

สงครามการค้ายังกระทบไทยต่อเนื่อง

สำหรับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ดร.ศิวัสน์ มองว่าในปีหน้าสถานการณ์ยังไม่น่าจะดีขึ้นแต่ก็ไม่แย่ลง โดยคาดว่าสถานการณ์จะอึมครึมเช่นนี้ไปตลอดทั้งปี เนื่องจากเงื่อนไขทางการเมืองทำให้ทั้งสองประเทศถอยจากสถานการณ์นี้ยาก ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยชะลอตัวลง และปีหน้าก็ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น

ขณะเดียวกันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของจีนก็เริ่มแสดงถึงประสิทธิผลที่ลดน้อยลง จึงมองว่าความกดดันของสงครามการค้าน่าจะอยู่ที่ระดับปัจจุบัน และหากมองข้ามช็อตไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งถัดไป ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีก็ตาม จะมีการถอยจากสงครามการค้าง่ายขึ้นในช่วงปลายปี 2564”

ดร.ศิวัสน์มองว่า สงครามการค้าจะกระทบกับภาคส่งออกไทยคิดเป็นมูลค่าสูญเสีย 2.1-3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนปี 2563 มองว่าไทยยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง แต่ผลกระทบส่วนใหญ่เกิดขึ้นไปแล้วในปี 2562 ทำให้ปีหน้าคาดไทยได้รับผลกระทบ 1-2.5 พันล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการเก็บภาษีสินค้าจากจีนในกลุ่มสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต ของเล่น เสื้อผ้า และรองเท้า ที่อาจทำให้ไทยได้รับผลกระทบเพิ่มเติมได้

สำหรับโอกาสการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยนั้นก็มีความเป็นไปได้และเริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการระดับโลกที่ผลิตสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, กล้องดิจิทัล, โทรศัพท์มือถือ และยางรถยนต์ ซึ่งมีฐานการผลิตทั้งในจีนและไทย ทำให้เขาเริ่มย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาไทยตั้งแต่ช่วงแรกของสงครามการค้า

แต่สินค้าอื่นที่ไม่ได้มีฐานการผลิตที่ไทย ทำให้ไทยอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่ผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิตมา ซึ่งเราเองต้องพิจารณาในเรื่องความสามารถในการผลิตสินค้ากลุ่มนั้นๆ ทักษะของแรงงาน และค่าแรงขั้นต่ำที่ยังสูงที่สุดในอาเซียนด้วย

 

มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าส่งออกติดลบ 2%

ด้านณัฐพรกล่าวว่า จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกหลักๆ ทั้ง Brexit และสงครามการค้าที่ส่อแววยืดเยื้อต่อเนื่อง ทำให้มองว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยปีหน้าด้วย โดยประมาณการภาคส่งออกปีหน้าติดลบ 2% ซึ่งจะส่งผลต่อจีดีพีไทยปีหน้าที่มีความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่า 3% (กรอบ 2.5-3%)

“สำหรับปัจจัยอื่นที่มีผลคือทิศทางค่าเงินบาทที่ช่วงที่ผ่านมาอยู่ในเทรนด์แข็งค่ามาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี ทำให้คนหันไปหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอย่างการซื้อทองคำ ทำให้ดุลการค้าของทองคำในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเกินดุลสูงมาก นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่อยากให้มองคือทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง และตลาดมองว่าจะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในปีนี้

ณัฐพร กล่าวว่า สำหรับการประมาณการปีหน้านั้นตั้งอยู่บนเงื่อนไขแวดล้อมที่ประเมินจาก ขณะนี้ และยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจมีออกมาเพิ่ม

เศรษฐกิจไทยสะสมความเปราะบางมาตั้งแต่ปีนี้จากปัจจัยลบภายนอก ส่งผลให้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี ผู้ประกอบการต่างพยายามประคองตัวมาตลอด แต่หากปีหน้ายังต้องเจอปัจจัยเดิมก็อาจทำให้ผู้ประกอบการรับไม่ไหว ส่งผลต่อการปรับลดพนักงาน โดยข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าสัญญาณการเลิกจ้างแม้จะอยู่ในระดับต่ำแต่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ดังนั้น ภาครัฐอาจต้องออกมาตรการ เช่น กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เพื่อช่วยประคับประคองให้ผู้ประกอบการไทยยังอยู่รอดได้ณัฐพร กล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านเพิ่มเติม

 


ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine