ลุ้น "ส่งออกไทย" พ้นจุดต่ำสุด หวังสินค้านิวนอร์มอลดันยอด - Forbes Thailand

ลุ้น "ส่งออกไทย" พ้นจุดต่ำสุด หวังสินค้านิวนอร์มอลดันยอด

กระทรวงพาณิชย์ เผย ส่งออกไทย เดือนก.ค.63 ติดลบ 11.37% มูลค่า 1.88 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ระบุผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังหลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ ต้องการสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตร อาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตใหม่ (นิว นอร์มอล) คาดทั้งปี ติดลบ 8% ถึง 9%

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ว่า ในเดือนกรกฎาคม 2563 การส่งออกสินค้าไทยมีมูลค่า 18,819.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 11.37  เมื่อเทียบกับเดือนกรกฏาคม 2562 ถือว่ามีการฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หรือในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายนที่มีมูลค่า 16,278-16,444 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากหักมูลค่าการส่งออกสินค้าทองคำ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และอาวุธจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.97 ส่วนมูลค่าส่งออกเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 579,654.3 ล้านบาท ติดลบร้อยละ 11.61

สำหรับการนำเข้า มีมูลค่า 15,476.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 26.38 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 483,309.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 26.59 ได้ดุลการค้า 3,343.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 96,344.6 ล้านบาท

ขณะที่ยอดส่งออกรวมในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 63 มีมูลค่า 133,162.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 7.72 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 4.142 ล้านล้านบาท ติดลบร้อยละ 8.77 การนำเข้า มีมูลค่า 119,118.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 14.69 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 3.752 ล้านล้านบาท ติดลบร้อยละ 15.81 ได้ดุลการค้า 14,044.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 389,496.8 ล้านบาท

พิมพ์ชนก กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกไทยเดือนกรกฎาคม 2563 แม้จะยังติดลบ แต่ถือว่าขยายตัวได้ดี ทั้งในส่วนของสินค้า และตลาดส่งออก โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง มีทั้งอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่งเย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โซลาร์เซล สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ เช่น ถุงมือยาง และสินค้าเก็งกำไร เช่น ทองคำ ซึ่งเป็นไปตามวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (นิว นอร์มอล) ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้านการส่งออกรายตลาด มูลค่าส่งออกเกือบทุกตลาดหดตัวในอัตราที่ลดลง สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังประเทศคู่ค้าควบคุมการระบาดของโควิด-19 และคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการส่งออกไปสหรัฐ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.8 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จีนหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.7 เพราะมีการระบาดรอบ 2 และเกิดเหตุน้ำท่วมที่เมืองอู่ฮั่น จนกระทบต่อการผลิต เป็นต้น

“ขณะนี้ การส่งออกของไทย แทบไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว เพราะการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐยังเติบโตได้ดี การส่งออกที่ลดลงตอนนี้มาจากโควิด-19 เป็นสำคัญ แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีสินค้าหลายรายการที่มีศักยภาพส่งออกได้ดี โดยเฉพาะเกษตรและอาหาร สินค้ากลุ่มนิว นอร์มอล เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องมือแพทย์ ถุงยางทางการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น” พิมพ์ชนกกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2563 การส่งออกของไทยจะติดลบร้อยละ 8-9 เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือมีมูลค่า 224,105-226,567 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยง ทั้งการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ที่อาจมีการปิดเมือง และกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การค้า จนกระทบต่อการส่งออกของไทย สงครามการค้า ที่แม้ยังไม่ปะทุแต่มีแนวโน้มความกังวลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นสงครามด้านเทคโนโลยี และสงครามการเงิน ที่อาจจกระทบถึงการส่งออกไทยได้ ขณะที่ราคาน้ำมัน แม้จะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงต้นปี แต่ยังไม่สูงมากนัก และค่าเงินบาท ที่กลับมาแข็งค่ามากขึ้น

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการการส่งออกสินค้าไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวลงร้อยละ 12 จากเดิมคาดการณ์ที่ติดลบร้อยละ 6.1 แม้ว่าเดือนกรกฎาคม การส่งออกจะหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่การพัฒนาวัคซีนยังมีความไม่แน่นอนสูง และคาดว่าจะใช้เวลานานกว่าจะสามารถผลิตออกมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงอย่างมาก

ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่พร้อมจะถูกนำมาโยงกับสงครามการค้าได้ทุกเมื่อ จึงเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันการค้าและเศรษฐกิจโลกต่อไปในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าตามแนวโน้มการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะอีกปัจจัยกดดันภาคการส่งออกของไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ และการนำเข้าของไทยเดือนกรกฎาคม หดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นถึงร้อยละ 26.4 โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหดตัวร้อยละ 24.1 สะท้อนถึงยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกในช่วงสิ้นปีจะยังหดตัวอยู่

ด้าน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ คงประมาณการการส่งออกไทยในปีนี้ ติดลบร้อยละ 10.4 เนื่องจากในระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากดดัน ได้แก่

1.การกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ในหลายประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเวียดนาม เริ่มกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น สะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอาจประสบภาวะการชะลอัวของการฟื้นตัว ซึ่งจะกระทบการส่งออกในระยะต่อไป

2.ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ โดยล่าสุดนอกจากสงครามการค้าและปัญหาการกีดกันเทคโนโลยีแล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้มีการลงนามบังคับใช้กฎหมายคว่ำบาตรจีน และเพิกถอนสถานะพิเศษฮ่องกง (ยกเลิกสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมถึงยกเลิกการยกเว้นสิทธิภาษีเดินเรือกับฮ่องกง) ซึ่งทำให้สถานการณ์ระหว่างสองประเทศเลวร้ายมากขึ้น และในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ว่าทั้งสองประเทศอาจใช้มาตรการที่สร้างความตึงเครียดระหว่างกันเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าโลกในที่สุด

3.ความเสี่ยงในการถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน (Currency manipulator) โดยพบว่าไทยเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อที่สหรัฐกำหนดไว้ คือ มีการค้าเกินดุลกับสหรัฐมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของจีดีพีในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และมีมูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 2% ของจีดีพี ซึ่งหากสหรัฐพิจารณาแล้วไทยเข้าเกณฑ์ดังกล่าวอาจมีมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มขึ้น

4.กระแสการย้ายฐานผลิต ที่เร่งตัวขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศมีแนวโน้มหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง หรือกระจายการผลิตไปยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของการส่งออกไทยได้

photo credit: บางกอกโพสต์

อ่านเพิ่มเติม: ที่นอนดาร์ลิ่ง เปิดตัว Sleepen ที่นอนแอนตี้ไวรัส บุกตลาดไทยและเอเชีย


ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine