ภากร ปีตธวัชชัย เผย เงื่อนไข Circuit Breaker 3 ระดับ ดีเดย์พักซื้อขายวันแรก - Forbes Thailand

ภากร ปีตธวัชชัย เผย เงื่อนไข Circuit Breaker 3 ระดับ ดีเดย์พักซื้อขายวันแรก

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไฟเขียวมาตรการ Circuit Breaker ประกาศใช้ถาวร พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์จาก 2 ระดับเป็น 3 ระดับ โดยหยุดซื้อขายครึ่งชั่วโมงทันทีที่ติดลบ 8% หวังลดความผันผวนกระดานหุ้นและผลกระทบจากโควิด -19

หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ลองชิมลางประกาศหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ (Circuit Breaker) ชั่วคราวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดและภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผิดไปจากสภาพปกติอันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการออกเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (Market Disruption) และการปรับปรุงเกณฑ์Circuit Breaker เพิ่มโอกาสแก่ผู้ลงทุนให้มีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารสำหรับใช้ในการประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น โดยได้รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว  ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (Market Disruption) ได้ให้อำนาจคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถตัดสินใจดำเนินมาตรการชั่วคราว เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าว และสามารถพิจารณากำหนดระยะเวลาบังคับใช้มาตรการชั่วคราวนั้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ส่วนเหตุการณ์ที่เข้าข่าย Market Disruption ซึ่งเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่อาจจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ เหตุสุดวิสัยที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการดำเนินงานตามปกติของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของของตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือวินาศภัย และการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะCircuit Breaker แลัวแต่สภาพตลาดหลังจากนั้นยังคงผันผวนอยู่ รวมถึงการดำเนินการใด ๆ ของภาครัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจทางปกครองที่อาจมีผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวม หรือการดำเนินงานตามปกติของตลาดหลักทรัพย์ฯ

เงื่อนไขทั้ง 3 ระดับ

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถดำเนินมาตรการแก้ไขผลกระทบจาก Market Disruption ได้โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพิจารณาดำเนินมาตรการได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับราคาเสนอซื้อขายสูงสุดหรือต่ำสุด เป็นรายหลักทรัพย์หรือทุกหลักทรัพย์ และการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับราคาในการขายชอร์ต หรือห้ามหรือจำกัดการขายชอร์ตรายหลักทรัพย์หรือทุกหลักทรัพย์ นอกจากนั้น คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังอาจจะออกมาตรการเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อขายรายหลักทรัพย์หรือทุกหลักทรัพย์ จากวิธีจับคู่อัตโนมัติ (Automatic Order Matching: AOM) เป็นวิธีการอื่น หรือการปรับเพิ่มอัตราหลักประกันในการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสดหรือการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทมาร์จิ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์สำหรับการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (Program Trading) ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด หรือห้ามการใช้ Program Trading ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้มีการการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ (Circuit Breaker) จาก 2 ระดับ เป็น 3 ระดับ เป็นการถาวร โดยติดตามผลหลังจากการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวชั่วคราวตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนมีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น ทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเคยใช้มาตรการฉุกเฉินในการหยุดพักการซื้อขายครั้งแรกเมื่อปี 2549 หลังจาก SET Index ลดลงถึง 142.63 จุดหรือ 19.52% ก่อนจะใช้อีก 2 ครั้งในช่วง วิกฤตการเงินโลกปี 2551 และล่าสุดในปี 2563 ซึ่งเริ่มจากมาตรการชั่วคราวที่มีผลบังคับใช้วันที่ 18 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยประกาศใช้เป็นการถาวรในวันที่ 15 เมษายน 2563 พร้อมปรับหลักเกณฑ์ 3 ระดับ จากเดิมที่ติดลบ 10% เป็นเริ่มต้นติดลบ 8% จึงหยุดพักการซื้อขาย 30 นาที และระดับที่ 2 ติดลบ 15% หยุดพักการซื้อขาย 30 นาทีเช่นกัน สุดท้ายหากติดลบ 20% ตลาดหลักทรัพย์ฯจะหยุดพักการซื้อขายเป็นเวลา 60 นาที
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine